10 สมรรถนะจำเป็นคนทำงานต้องมี
เออาร์ไอพี และ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมมือทางวิชาการ วิจัยสมรรถนะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต เปิด10ทักษะที่คนทำงานต้องมี ตอบโจทย์บริบทพัฒนาองค์กรธุรกิจไทย
โลกขณะนี้การเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายโดยเฉพาะการมาของ Covid-19 นั้นเป็นตัวเร่งให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากมายหลายบริษัทกำลังถูกดิสรัปชั่น การพัฒนาคนเพื่อตอบโจทย์ในโลกของดิจิตอลจึงเป็นความท้าทายใหม่สำหรับองค์กรธุรกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"การพัฒนาบุคลากร"เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยุดนิ่งและจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเพื่อความก้าวหน้าขององค์กรจึงเป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ เพราะบุคลากรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้ความสามารถและเท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้
ผลรายงานวิจัยสมรรถนะที่จำเป็นของบุคลากรต่อการทำงานในอนาคตในบริบทที่เหมาะสมกับองค์กรไทย ภายใต้ความร่วมมือบริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) กับสถาบันวิจัย พัฒนา และสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้มีการจำแนกสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคตในบริบทขององค์กรธุรกิจไทย
แบ่งกลุ่มสมรรถนะออกมาเป็น 3 กลุ่มสมรรถนะสำคัญ รวมทั้งสิ้น 10 สมรรถนะหลัก คือ
กลุ่มที่ 1 – สมรรถนะเพื่อการทำงานแบบมืออาชีพ (Working Professionally) ประกอบด้วย
1.1 ความสามารถในการจัดการปัญหาบนฐานการคิด (Thinking-based solution) เป็นความสามารถในการประยุกต์ใช้วิธีคิดอย่างเป็นระบบเพื่อการตีความและเป็นการใช้ข้อมูล/สถานการณ์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงแนวคิดหรือข้อมูลในวิธีการใหม่ๆ หรือการเชื่อมโยงไปกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องหรือคุ้นเคย เพื่อสร้างไอเดียในการเรียนรู้งานใหม่ หรือการทำงานรูปแบบใหม่ อันจะเป็นการพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างใหม่ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสมในการปฎิบัติได้
1.2 ความตั้งใจใฝ่รู้เพื่อการพัฒนางาน (Willingness to Learn) เป็นความสามารถในการแสวงหาโอกาสที่จะเพิ่มพูนความรู้และทักษะของตนเองอย่างต่อเนื่อง และเข้าถึงความรู้หรือทักษะใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาตนเองในการก้าวสู่ความสำเร็จในอาชีพ สร้างความมั่นใจให้กับตนเอง ตลอดจนช่วยเหลือผู้อื่นในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ สร้างความสำเร็จตามเป้าหมายในการทำงาน ความสำเร็จขององค์กร
1.3 ความฉลาดรู้ทางดิจิทัล (Digital literacy) เป็นสมรรถนะที่อธิบายถึงความสามารถในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ชอฟต์แวร์ เพื่อสร้าง ประเมิน และแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด
1.4 ความฉลาดรู้ทางข้อมูล(Information literacy) เป็นความสามารถในการอ่านข้อมูลเชิงสารสนเทส การทำความเข้าใจความหมายของข้อมูล การทำงานกับข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการนำข้อมูลเชิงสารสนเทศไปใช้ประโยชน์ในองค์กรธุรกิจ
กลุ่มที่ 2 – สมรรถนะเพื่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Working with Others)
2.1 ความสามารถในการมีอิทธิพลทางความคิด (Influencing and leading to goals)เป็นสมรรถนะที่อธิบายถึงความสามารถในการสื่อสารเพื่อจูงใจและมีอิทธิพลต่อบุคคลอื่น อันจะเป็นการนำพาสู่เป้าหมายทางการสื่อสารที่ต้องการผ่านการใช้ทักษะการจูงใจเพื่อเปลี่ยนจากคนที่ไม่รู้จักมาเป็นคนรู้จักช่วยเหลือหรือขับเคลื่อนเป้าหมายขององค์กรและใช้ทักษะการสื่อสารแบบมีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดจนสามารถประเมินและส่งเสริมการทำงานของทีม เพื่อตอบสนองความสำเร็จตามเป้าหมายของงานองค์กรได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
2.2 ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างชาญฉลาด (Interpersonal savvy)เป็นความสามารถในการจัดการอารมณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตระหนักถึงคุณค่าของทีมงานและรู้จักใช้ความสามารถในการเข้าใจคนอื่น เพื่อแสดงออกหรือสื่อสารประเด็นต่างๆได้อย่างเหมาะสมตลอดจนเมื่อเข้าไปสู่สถานการณ์ต่างๆในสังคมหรือกลุ่มคนก็จะสามารถสร้างความประทับใจและเอาตัวรอดได้อย่างกลมกลืนหรือรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มได้อย่างไม่ต้องใช้ความพยายามมาก
กลุ่มที่ 3 – สมรรถนะเพื่อการทำงานสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายองค์กร (Working to achieve goals)
3.1 ความสามารถในการระบุโอกาสที่สร้างคุณค่าให้กับองค์กร (Opportunity Identification for Valuing Ideas) เป็นสมรรถนะที่อธิบายถึงความสามารถในการวิเคราะห์ ประเมิน และระบุโอกาสทางธุรกิจ โดยมุ่งเป้าบนความท้าทายในการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า สามารถวิเคราะห์และนำเสนอคุณค่าทางธุรกิจที่สามารถรับมือกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงความท้าทายของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รวมถึงสภาพปัญหาและความต้องการของตลาดและกลุ่มที่คาดว่าจะเป็นลูกค้า
3.2 ความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ทีไม่แน่นอน (Dealing with ambiguity and risk)เป็นสมรรถนะที่อธิบายถึงความสามารถในการรับมือภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนคลุมเครือและมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจและสามารถยืนหยัดที่จะเดินหน้าเพื่อความสำเร็จขององค์กรเป็นสำคัญ
3.3 ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Behavioral Flexibility & Adaptability) เป็นความสามารถในการทำงานกับคนอื่นที่มีความหลากหลายโดยเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างข้อตกลงและความสนใจของกลุ่มคนทำงานที่แตกต่างกันได้ รวมทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของวิทยาการใหม่และสามารถนำสิ่งใหม่ มาประยุกต์ใช้เพื่อตอบสนองเป้าหมายขององค์กรและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไป
3.4 ความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) เป็นสมรรถนะที่สะท้อนถึงความตระหนักในการกระทำของตนที่ส่งผลต่อสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานที่ตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
ทั้งนี้ 10 สมรรถนะจำเป็น จะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม เสริมสร้างคุณลักษณะตามสมรรถนะที่จำเป็น โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นมาตรฐานให้กับองค์กรไทยในการใช้ประเมินระดับสมรรถนะของบุคลากรในองค์กรในทุกระดับ
นายบุญเลิศ นราไท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของการวิจัยครั้งนี้มาจากผลการศึกษาของ World Economic Forum 2020 ที่ระบุว่า ภายในปี 2025 อาชีพของคนทำงานทั่วโลก 50% จำเป็นต้องเร่ง รีสกิล (Reskill) และอีกกว่า 40% ของคนทำงาน จะต้อง reskilling ตนเอง ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อตอบโจทย์การทำงานยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ วิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบประเมินสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคตแบบครบวงจร
โดยเริ่มตั้งแต่การสังเคราะห์สมรรถนะและคุณลักษณะเชิงพฤติกรรม (expected behaviors) และพัฒนาระบบประเมินสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคต (Future Competency Assessment System)ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เป็นการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างระดับความเชี่ยวชาญของบุคลากรจากผลการประเมินสมรรถนะ ในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการ และเรียนรู้บนระบบออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม WISIMO ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กร
ด้านรศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ กล่าวว่า ความท้าทายของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันทางวิชาการ คือการใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัย ในการทำความเข้าใจเชิงรุก และรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง โดยการวิจัยเพื่อศึกษาสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานและนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้เป็นฐานในการประเมินสมรรถนะและจัดทำหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะบุคลากรให้สามารถร่วมกันผลักดันองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า
ความร่วมมือของทั้ง 2 องค์กรนั้นได้ร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคต ที่ทั่วโลกกำลังสนใจ กว่า 50 สมรรถนะที่มีหลากหลายแตกต่างกัน ซึ่งในกระบวนการศึกษาวิจัยแล้วนั้น พร้อมกันนี้ได้ออกแบบโปรแกรม (ต้นแบบ) การเสริมสร้างคุณลักษณะตามสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคต ซึ่งได้กรอบเนื้อหาเพื่อการพัฒนาสมรรถนะพื้นฐาน จำนวน 31 วิชา ที่ครอบคลุมทุกทักษะใน 10 สมรรถนะหลักที่จำเป็นเพื่อให้เป็นมาตรฐานในการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สำหรับองค์กรธุรกิจไทยต่อไป
หน่วยงานที่สนใจสามารถร่วมทำแบบประเมินสมรรถนะของพนักงานในองค์กรได้ฟรี ติดต่อ ได้ที่อีเมล[email protected] โทร. 0-2642-3400 ต่อ 2400, 2401