นักวิชาการติงยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี ขาดแผนพัฒนาชาวนา
นักวิชาการติงยุทธศาสตร์ข้าว5 ปี ขาดแผนพัฒนาชาวนา ระบุเป้าลดต้นทุนข้าว 50% ใน 5 ปีเป็นไปไม่ได้ยกเว้นในแปลงทดลอง ชี้ปัจจุบันไทยต้นทุนผลิตข้าวสูงกว่าประเทศผู้ส่งออกข้าวทั้งหมด ชี้ข้าวไทยแข่งขันลำบากมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปีที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(นบข.) ว่าเป็นยุทธศาสตร์ข้าวที่ไม่เห็นความแตกต่างจากนโยบายและยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในอดีตมากนักเพราะไม่ได้เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งไปเพิ่มกลไกสร้างประสิทธิภาพการผลิตข้าวและการพัฒนาชาวนาอย่างแท้จริง
สำหรับการลดต้นทุนการปลูกข้าวที่นบข.กำหนดเป้าหมายว่าจะลดต้นทุนให้เหลือไม่เกิน 3,000 บาทต่อไร่ นายสมพรกล่าวว่าเรืองนี้เป็นไปได้ยากมาก เพราะต้องลดต้นทุนจากปัจจุบันไปมากกว่า 50%ขณะที่ในปัจจุบันจะลดต้นทุนให้ได้แค่ 20% ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หากจะทำได้ตามนั้นมองว่าเป็นเรื่องที่จะทำได้ในแปลงทดลองเท่านั้น
ในส่วนต้นทุนการผลิตข้าวของไทยในปัจจุบันยังถือว่าสูงกว่าประเทศผู้ส่งออกสำคัญที่เป็นคู่แข่งของไทย โดยไทยมีต้นทุนที่ประมาณ 7,500 บาทต่อตัน อินเดียประมาณ 5,700บาท ต่อตัน เวียดนามประมาณ 5,600 บาทต่อตัน พม่า 4,300 บาทต่อตัน ความสามารถในการแข่งขันเรื่องข้าวของไทยในการส่งออกข้าวสารทั่วไปสู้ประเทศอื่นได้ยากเพราะต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งทำให้การกำหนดราคาในตลาดส่งออกก็สูงกว่าคู่แข่งซึ่งในอดีตทำได้เพราะคุณภาพข้าวของไทยสูงกว่าคู่แข่ง เช่นเวียดนามแต่ปัจจุบันในเรื่องคุณภาพข้าวเราไม่ค่อยได้เปรียบคู่แข่งแล้วทำให้ข้าว สารเจ้าส่งออกของไทยแพงในสายตาผู้นำเข้าส่วนแบ่งทางการตลาดข้าวจึงหดตัวเพราะคนซื้อน้อยลง ประเทศผู้นำเข้าสำคัญหันไปหาเวียดนาม เขมร ปากีสถาน และอินเดียแทน
“นโยบายข้าวยังเป็แบบเดิม หากไม่เพิ่มกลไกการสร้างประสิทธิภาพที่ตัวชาวนา รอสัก 3ปีจะเห็นข้าวไทยตกเหวลึก เพราะรัฐปรนเปรอเกษตรกร จนเกษตรกรขาดการปรับตัวจึงยากที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น แม้จะใช้ไบโอเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็ตาม อาจจะทำได้ในรูปปรับคุณภาพ สร้างความจำเพาะก็ทำได้เฉพาะจุดเพื่อเพิ่มมูลค่าต่อหน่วย
ส่วนเรื่องจะลดต้นทุนให้ได้ขนาดนั้นภายใน 3 ปี มองว่าเป็นแค่ราคาคุย แค่ 20% ก็ยังหืดขึ้น คอเพราะการจะลดต้นทุนได้ข้อแรก ต้องเข้าใจการประหยัดจากการจัดการไร่นาที่ดี ของตัวเกษตรกร คุณภาพดินดีและมีภูมินิเวศเหมาะสม และมีพันธุ์ที่ให้ผลผลิต(yield)สูงขึ้นจากเดิม โดย ต้นทุนไม่เพิ่มหรือเพิ่มเล็กน้อย”นายสมพร กล่าว