"เศรษฐพงค์" แนะไทย เตรียมรับมือ Space War หลังเลือกตั้ง "ประธานาธิบดีสหรัฐ"
"เศรษฐพงค์" เชื่อหลังเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐ มีนโยบายส่งเสริมกิจการอวกาศกับชาติพันธมิตร แนะไทยเตรียมพร้อมรับมือ “Space War” ชี้ ต้องลดช่องว่างกับมหาอำนาจ เพื่อมีอำนาจต่อรองเข้าร่วมได้ทุกฝ่าย
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ฐานะรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯว่า ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ Space War ไม่ว่าใครที่มาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐต้องให้ความสำคัญในเรื่องการแข่งขันในกิจการอวกาศเพราะการพัฒนาอย่างรวดเร็วในกิจการอวกาศของจีนที่เติบโตและเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก การมองการแข่งขันในกิจการอวกาศระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นไม่อาจจะใช้มุมมองแบบเดียวกับที่มองการแข่งขันในเรื่องนี้เหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้วระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต เพราะเชื่อกันว่าถ้าชาติใดสามารถประสบความสำเร็จในการเข้าถึงดวงจันทร์หรือดาวอังคารได้ก่อน จะเป็นคนที่สร้างกฎเกณฑ์ให้คนอื่นชาติอื่นต้องปฏิบัติตาม โดยได้มีการลงนามบน Artemis Accord ระหว่างสหรัฐกับตัวแทนด้านกิจการอวกาศกับหลายประเทศแล้วเช่น แคนาดา, อิตาลี, สหราชอาณาจักร, ญี่ป่น, ออสเตรเลีย, ลักซัมเบอร์ก, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยหลังการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จสิ้นลง คาดว่าจะมีนโยบายในการส่งเสริมให้ชาติพันธมิตรต่าง ๆ เข้าร่วมลงนามเป็นเครือข่าย
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า ความชอบธรรมของสัญญาความร่วมมือฉบับนี้จะยิ่งมีมากขึ้นเมื่อมีชาติต่าง ๆ เข้าร่วมมากขึ้น ด้วยสภาพความเป็นจริงความสามารถในการทำธุรกิจด้านนี้ของเอกชนสหรัฐย่อมได้เปรียบชาติอื่นอยู่แล้ว ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเปิดเผยและยุติธรรมแต่เป็นการยากที่จะมีบริษัทเอกชนชาติอื่นที่จะเข้าแข่งขันได้ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนทางเทคโนโลยีจากทางสหรัฐ สภาวะเช่นนี้เปรียบเสมือนโครงการ One belt One Road ของรัฐบาลจีนที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาระบบกฎหมาย กฎเกณฑ์ความชอบธรรมต่อประเทศสมาชิกต่าง ๆ ต้องมีระบบตัดสิน ไต่สวนต่อข้อขัดแย้งอย่างยุติธรรมและเปิดเผย แต่ด้วยการแข่งขันในกิจการอวกาศการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศต่าง ๆ ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศยังล้าหลังหรือยังมิได้เริ่มต้น จะอยู่ในสภาวะผู้ตามที่พร้อมจะตามประเทศผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้ก่อน อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ใครมาก่อนจะเป็นผู้กำหนดกติกาให้ผู้อื่นทำตาม
"ถ้าให้ความสำคัญต่อเรื่องกิจการอวกาศ และต้องการรักษาบทบาทการสร้างดุลยภาพระหว่างการเกิดการแข่งขันในกิจการอวกาศของประเทศมหาอำนาจ จำเป็นจะต้องมีการส่งเสริม พัฒนา เทคโนโลยีอวกาศของตนเองอย่างเร่งด่วน เพื่อลดช่องว่างความสามารถในการแข่งขันกับชาติมหาอำนาจลง และเพื่อมีอำนาจต่อรองในการเข้าร่วมพันธมิตรกับทุกฝ่ายที่มีข้อขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ หรือมิฉะนั้นจะเป็นเพียงประเทศผู้ตามที่นโยบายจะแปรผันไปเรื่อย ๆ ตามประเทศที่มีความได้เปรียบในช่วงเวลานั้น ไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองอันใดได้" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว