“ซีพี” ไร้อุปสรรคซื้อ “เทสโก้” เดินหน้ารุกค้าปลีกอาเซียน
กลุ่มซีพีสามารถจบดีลแสนล้านบาทได้อีกครั้งหลังยื้อเยื้อมากถึง 3 เดือนเพื่อรอให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อนุมัติเข้าควบรวมกิจการไฮเปอร์มาร์เก็ต ‘เทสโก้ โลตัส ‘ในไทย และมาเลเซียมูลค่า 338,445 ล้านบาท
มติดังกล่าวแม้จะออกมาแบบไม่เอกฉันท์ เพราะมีคณะกรรมการไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการในครั้งนี้ แต่สุดท้ายเสียงข้างมากกลับมองต่างออกมาว่าสามารถเข้ามากำกับดูแลไม่ให้ใช้อำนาจเหนือตลาดสร้างการค้าที่ไม่เป็นธรรมผ่านกฎเกณฑ์ 5 ข้อได้ จนเป็นที่มาให้กลุ่มซีพีรวบธุรกิจค้าปลีกในมือแบบเบ็ดเสร็จ
กฎเกณฑ์ที่ระบุให้กลุ่มซีพี ปฎิบัติตามถือว่าไม่ได้ปฎิบัติยากเย็นอะไรเมื่อเทียบกับที่กลุ่มซีพีได้กลับไป
ทั้ง 1. การไม่อนุญาตให้มีการควบรวมหรือรวมกิจการในลักษณะเดียวกันภายใน 3 ปี ซึ่งหากดูจากธุรกิจค้าปลีกในตอนนี้แทบจะไม่เหลืออะไรและมีความจำเป็นให้ต้องซื้อกิจการอื่นอีก บวกกับฐานเงินทุนที่จะตรึงตัวเกินไปสำหรับซีพีหากจะซื้อธุรกิจค้าปลีกเพิ่มเติม
2. กำหนด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหชน) หรือ CPALL และ เทสโก้ ต้อง พิ่มสัดส่วนขายสินค้าจากเอสเอ็มอี จากโอท็อป ไม่น้อยกว่า 10 %ต่อปี เป็นระยะเวลา5 ปี ซึ่งไม่ได้ยากเย็นอะไร
3.ไม่อนุญาตใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ และให้ถือว่าเป็นข้อมูลลับทางการค้า
4.บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เป็นเจ้าของเทสโก้ โลตัส ในไทยต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงกับซัพพรายเออร์เป็นระยะเวลา 2 ปี
และ5.ทั้ง 2 บริษัท สนับสนุนเอสเอ็มอี กำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) เป็นระยะเวลา 30 – 45 วัน เป็นระยะเวลา 3 ปี
ตามกำหนดทางกลุ่มซีพีจะต้องนำมาพิจารณาและตอบรับภายใน 45 วัน ซึ่งเชื่อว่าแทบจะไร้ปัญหาและสามารถตอบรับเพื่อปิดดีลภายในเดือน ธ.ค. 2563 ได้ทันที ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีผลต่อราคาหุ้นของ CPALL ในฐานะบริษัทหลักในการเข้าซื้อกิจการเทสโก้
จากราคาหุ้น CPALL ลงไป 53.50 บาท (30 ต.ค.) ล่าสุดราคาหุ้นมาปิดอยู่ที่ 60.25 บาท (9 พ.ย.) เพิ่มขึ้น 1.69% และระหว่างวันทำราคาสูงสุดที่ 61.50 บาท เพิ่มขึ้น 13 % ในรอบกว่าสัปดาห์
ราคาหุ้นที่ขึ้นมาตอบรับข่าวคาดการณ์การขึ้นมารวบธุรกิจค้าปลีกในมือจนสร้างขนาดที่ใหญ่ (Economy of scale) ต่อธุรกิจที่มีอยู่เพื่อให้ได้ผลรายได้หรือกำไรที่มากขึ้นไปด้วย จากปัจจุบันแบรนด์ค้าปลีกในมือซีพี ครบตั้งแต่ซุปเปอร์มาร์เก็ต จนถึงคอนวิเนียนสโตร์
โดยมี“เซเว่น อีเลฟเว่น” ที่ปักธงสาขาในไทย 12,000 สาขา จนการขยายเริ่มจำกัดทำให้ได้สัญญาเฟรนไชส์ ที่สปป.ลาวและกัมพูชา ระยะเวลา 30 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาได้อีกสองครั้งครั้งละ 20 ปี เฉพาะในส่วนนี้ทำให้ เซเว่น อีเลฟเว่น เข้าถึงประชากรจำนวน 16 ล้านคนในกัมพูชา และ 6.9 ล้านคนในสปป. ลาว ง่ายต่อการขยายสาขาได้มากถึง1 ใน 3 ของไทย หรือรวมประมาณ 3,300 สาขา
ถัดมา “แม็คโคร” ที่มี 130 สาขา เข้ามาหนุนตลาดกลุ่มผู้ค้าส่ง และสามารถขยายไปยัง แม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส เน้นกลุ่มอาหารและของสด ในแหล่งชุมนุม สอดคล้องกับ “ซีพี เฟรชมาร์ท” ที่มีอยู่ 600 สาขา ที่เน้นอาหารสด และพร้อมปรุงพุ่งเป้าหมายไปที่ตลาดครอบครัว
ส่วนการมีเทสโก้โลตัสเข้ามา เฉพาะในไทย มีสาขาถึง 1,967 สาขา แบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา โลตัส ซุปเปอร์มาร์เก็ต 179 สาขา โลตัสเอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา ยังไม่นับรวมกับเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าอีก 191 สาขา
ขณะที่เทสโก้โลตัส ที่มาเลเซียมีรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา ซุปเปอร์มาร์เก็ตอีก 13 สาขา ร้านค้าขนาดเล็ก 9 สาขา และยังมีธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 56 สาขา ดังนั้นตลาดในอาเซียนแทบจะอยู่ในมือของซีพีได้หมด ซึ่งเป้าหมายใหญ่ยังมีตลาดอินเดีย และจีนที่ มีประชากรมหาศาลจนสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งทางธุรกิจได้อีกมาก
เมื่อดูจากพื้นที่และจำนวนสาขาที่มีมากและกระจายทั้งภูมิภาคกลายเป็นสิ่งดึงดูดในซัพพรายเออร์ หรือคู่ค้า ต่างตบเท้าเข้ามาลงสินค้าเพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคได้มากที่สุด และเมื่อมาดูเงื่อนไขของคณะกรรมการกขค. แล้วแทบจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มซีพีเลย