ธปท.ชี้โค้งท้ายยอด 'ยึดรถยนต์' พุ่ง กดดันแบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ

ธปท.ชี้โค้งท้ายยอด 'ยึดรถยนต์' พุ่ง กดดันแบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ

ธปท.ส่องไตรมาส 4 ยอดยึดรถโผล่เพิ่ม เหตุลูกหนี้ภาระหนี้รัดตัว กดดันแบงก์คุมเข้มสินเชื่อต่อ “เกียรตินาคินภัทร” รับพบยอดยึดรถเพิ่มแต่ยังอยู่ระดับบริหารจัดการ เร่งคุยดีลเลอร์ซื้อรถคืน หลังลูกหนี้ผ่อนไม่ไหว

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อในไตรมาส 4 จากสถาบันการเงิน และนอนแบงก์ โดยระบุว่า ด้านมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนโดยรวมยังมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิม จากไตรมาส 3 ที่สถาบันการเงินมีการเข้มงวดขึ้นทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ สถาบันการเงินบางแห่งมีแนวโน้มเพิ่มความเข้มงวด เนื่องจากคาดว่า ราคาของหลักประกันจะปรับลดลงตามอุปทานรถยนต์มือ2 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
จำนวนรถยนต์มือ 2 ที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากผลของ “มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ระยะที่ 2” ของธปท. ที่ทำให้การยึดหลักประกันทำได้ล่าช้ากว่าปกติ

ขณะที่บทความของ “ณฐพร สัจวิทย์วิศาล” ผู้วิเคราะห์ทีมนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจ 1-2 ธปท. วิเคราะห์ภาวะตลาดรถยนต์ในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยคาดว่าหลังหมดมาตรการพักชำระหนี้รถยนต์ของสถาบันการเงินสิ้นสุดลงในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าปริมาณรถยนต์มือ 2 ในตลาดจะเพิ่มสูงขึ้น จากรถยนต์ที่ถูกยึดและขายทอดตลาดมากขึ้น เนื่องจากผู้กู้ บางส่วนที่มีภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินสูง จนอาจจะไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ ส่งผลให้ราคารถยนต์มือ 2 มีแนวโน้มปรับลดลง และนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 

เคเคพีรับยึดรถโผล่  

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือเคเคพี เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือนต.ค. ที่ผ่านมา มีลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ของธนาคารปล่อยให้ยึดรถบ้าง กรณีที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงๆ หลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารที่ทยอยครบกำหนดในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา และส่วนหนึ่งจะเริ่มครบกำหนดสิ้นเดือน พ.ย.นี้

อย่างไรก็ตามอัตราการยึดรถยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ไม่ได้สูงมาก เนื่องจากที่ผ่านมา ธนาคารมีการเดินหน้าช่วยลูกค้าต่อเนื่อง เพื่อลดความสูญเสีย ลดการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลที่จะย้อนกลับมาสู่ธนาคาร เช่น การร่วมมือกับดีลเลอร์รถยนต์ เพื่อให้เข้ามาช่วยในการรับซื้อรถยนต์คืนจากผู้กู้เอง เพื่อให้มูลค่าความเสียหายไม่สูง และพยายามเร่งหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้โดยการเข้าไปเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลูกหนี้อย่างรวดเร็ว

“โควิด-19 เข้ามากระทบทำให้ลูกค้าเรามีรายได้ลดลง แต่ไม่ได้ทำให้ลูกค้าไม่ดี เพราะลูกค้าบางคน แม้ไม่มีความสามารถชำระหนี้ ก็พยายามมาหาทางออกร่วมกับแบงก์ และเราก็เดินหน้าช่วยเหลือลูกหนี้เต็มที่ ไม่ให้ถูกยึดรถ เพราะยึดรถมามากๆก็ไม่มีประโยชน์ ราคาเสีย ยึดมาแบงก์ก็ต้องมาบริหารรถที่ยึดมาอีก ดังนั้นเราพยายามช่วยทุกทางที่ทำได้ ช่วยคุยดีลเลอร์ คุยกับลูกค้าเพื่อให้ลูกหนี้มีทางออกที่ดีที่สุด” นายฟิลลิป กล่าว

เข้มปล่อยกู้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามในด้านมาตรฐานการให้สินเชื่อ ธนาคารยังคงมาตรฐานการให้สินเชื่ออย่างระมัดระวังเหมือนไตรมาสที่ผ่านมา เช่นหากลูกค้าอยู่ในอุตสาหกรรมเสี่ยง ที่ได้รับผลกระทบมาก อาจระวังมากขึ้นโดยการให้เพิ่มวงเงินดาวน์รถเพิ่ม รวมถึงดูภาระหนี้ต่อรายได้ของผู้กู้ที่ต้องพิจารณามากขึ้นไม่ให้มีภาระหนี้สูงจนเกินไป

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากดูสินเชื่อรถยนต์ของธนาคาร หลังหมดมาตรการพักหนี้ไปเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย.พบว่า ลูกหนี้ส่วนใหญ่ 80% กลับมาชำระหนี้ได้ และมีราว 20% ที่ต้องการช่วยเหลือต่อ

ส่วนแนวโน้มการยึดรถ หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ของบริษัทถือว่าน้อย เพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัท เป็นลูกหนี้ที่ทำอาชีพการเกษตร รับจ้างที่จำเป็นต้องใช้รถในการทำอาชีพ ดังนั้นจึงเห็นการปล่อยรถถูกยึดค่อนข้างน้อย

ส่วนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ผ่านมา ถือว่าคงเดิมไม่ได้เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทมีการพิจารณาตามความสามารถลูกหนี้ในการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว เช่นการให้สินเชื่อราว 50-60% และให้ผู้กู้ดาวน์เองอีก 40% เพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่งผลให้ที่ผ่านมาหนี้เสียของบริษัทไม่ได้เพิ่มขึ้น และสามารถบริหารจัดการได้ให้อยู่ที่ระดับ 1% และสินเชื่อรถยนต์ปล่อยใหม่ยังสามารถเติบโตได้ในปีนี้ระดับ 25%

“ในอีกมุม อย่าลืมว่าเมื่อมีรถยึด มีรถมือ 2 เยอะในตลาด ก็ถือว่าเป็นโอกาสสำหรับคนที่อยากได้รถยนต์ราคาถูก หากเทียบกับซื้อรถใหม่ ดังนั้นยังมีกลุ่มนี้ที่มีความต้องการรถ และพยุงไม่ให้รถมือสองราคาหดไปมาก”

ทีเอ็มบีชี้หนี้เสียไหลต่อ

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า แนวโน้มหนี้เสียของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ของระบบธนาคารพาณิชย์ คาดว่ามีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 2.3 % หากเทียบกับไตรมาส 3 ที่หนี้เสียอยู่ที่ระดับ 2.06% หลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ซึ่งจะส่งผลให้เห็นลูกหนี้มีความสามารถชำระหนี้ต่ำลงได้ จากรายได้ที่ตึงตัวมากขึ้น

ขณะเดียวกัน คาดว่าจะยังเห็นหนี้เสียของสินเชื่อรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นต่อ และเห็นระดับพีคสุดในไตรมาส 1 ปี 2564 หลังหมดมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน ดังนั้นยังเห็นเอ็นพีแอลไหลต่อเนื่อง

“อดีตหนี้เสียรถยนต์ เคยขึ้นไปทะลุ 2.6-2.7% หลังจากรถคันแรก ดังนั้นหากหนี้เสียขึ้นไปสู่ระดับดังกล่าวในระยะข้างหน้า ก็ถือว่าไม่เกินความคาดหมาย เพราะวันนี้ครัวเรือนมีภาระหนี้สูงขึ้น มีรายได้ต่ำลง ซึ่งก็เป็นเหตุผลทำให้ระบบแบงก์ อาจมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่วนหนี้ในกลุ่ม Stage 2 หรือสินเชื่อที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่ยังไม่เสีย เหล่านี้ก็เชื่อว่ายังอยู่ระดับสูงเกิน 9% ต่อเนื่องภายใต้การระมัดระวังของระบบแบงก์”

ส่วนภาพรวมสินเชื่อเช่าซื้อปีนี้ คาดว่าน่าจะกลับมาหดตัวในสิ้นปีที่ -1.8% หากเทียบกับไตรมาส 3 ที่สินเชื่อยังขยายตัวได้ที่ 1% โดยเหตุผลที่สินเชื่อรถยนต์ยังขยายตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา เพราะเข้าสู่มาตรการพักหนี้ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างไม่ลดลง