การเมือง
"วุฒิสาร" เผย2โมเดล ตั้ง "กรรมการสมานฉันท์" เสนอ ดึง "อดีตนักการเมือง" แทนม็อบเยาวชน
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เผย 2 โมเดลตั้งกรรมการ สมานฉันท์ ที่เสนอ "ประธานสภาฯ" บอก แนวทางแก้ปัญหา "ม็อบเยาวชน" ไม่ร่วม คือ ให้ นักการเมืองที่เข้าใจเยาวชนร่วมแทน
นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ต่อรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ปรองดอง ที่นำเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฐานะประธานรัฐสภา ว่า ได้นำเสนอ 2 รูปแบบ คือ โมเดลแรกที่เป็นไปตามข้อเสนอของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้มีกรรมการประกอบด้วย 7 ฝ่าย ทั้งนี้ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่าหากทำได้เท่าใด ขอให้ดำเนินการไปก่อน หรือ ตั้งเท่าที่ได้ เพราะไม่มีทางออกใดนอกจากการพูดคุยกันด้วยความเป็นมิตร ทั้งนี้รูปแบบดังกล่าวเสนอให้สภาฯ เป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อให้ใช้บทบาทของรัฐสภาแก้ปัญหา และสามารถเปิดพื้นที่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาร่วมทำงานด้วย
"หากเชิญทุกฝ่ายมาไม่ได้ ให้ตั้งกรรมการคุยกันไปก่อน หากทุกฝ่ายยืนยันไม่เข้า อาจเป็นปัญหาว่าจะใช้เวทีอะไรหารือร่วมกันเพื่อหาทางออก เพราะกลไกของรัฐสภา คือ เวทีการแก้ปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งปฏิเสธการเข้าร่วม และหลายคนบอกว่า ผู้ชุมนุมกำหนดตัวแทนไม่ได้ ดังนั้นการมีตัวแทนเข้าร่วมอาจเป็นนักการเมือง หรือ อดีตนักการเมืองที่เข้าใจความคิดของผู้ชุมนุม กลุ่มเยาวชน เข้าร่วมได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประธานสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณา” นายวุฒิสาร กล่าว
นายวุฒิสาร กล่าวด้วยว่าโมเดลสอง คือ การตั้งกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือ อดีตประธานรัฐสภา ที่มีประสบการณ์ เห็นปัญหาในบ้านเมือง ต้องการหาทางออกให้บ้านเมือง โดยกรรมการชุดดังกล่าวต้องใช้เวลาทำงาน และเป็นการทำงานในระยะยาว โดยบทบาทอาจให้ความเห็นต่อประเด็นการออกแบบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย.