พาณิชย์ประเมินนโยบาย”ไจ ไบเดน”ส่งผลส่งออกไทยฟื้นตัว

พาณิชย์ประเมินนโยบาย”ไจ ไบเดน”ส่งผลส่งออกไทยฟื้นตัว

“พาณิชย์” วิเคราะห์นโยบาย “ไบเดน” ชี้สงครามการค้ามีแนวโน้มผ่อนคลายลง ส่งผลดีต่อการส่งออกไทยฟื้นตัว จีเอสพีมีโอกาสได้ต่อแบบมีเงื่อนไข ระวังถูกเล่นงานเรื่องค่าเงิน จับตากลับเข้า CPTPP แนะไทยจับมืออาเซียนต่อรอองการค้ากับสหรัฐฯ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงการวิเคราะห์นโยบายของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกและการค้าของไทย ว่า ในประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน น่าจะผ่อนคลายลง แต่จะยังคงมาตรการภาษีที่มีอยู่เดิม ทำให้ไทยยังมีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และยังจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและภูมิภาคเอเชีย เป็นประโยชน์ทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยในภูมิภาคเอเชียที่กำลังฟื้นตัว ทั้งการส่งออกไปยังจีน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และการส่งออกไปอาเซียนในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้การส่งออกไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากสงครามการค้า และอาจได้ผลบวกสำหรับกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานจีนสูง ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติกและไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงมีเป้าหมายสกัดกั้นอำนาจจีน ทำให้การลงทุนมีแนวโน้มไหลออกจากจีน และนักลงทุนต่างชาติเลือกกระจายหรือย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นแทน เช่น อาเซียน (เวียดนาม ไทย) สหรัฐฯ ละตินอเมริกา และอินเดีย ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยจะดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการแพทย์ แต่การย้ายฐานจากจีน อาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลง ซึ่งไทยต้องปรับกลยุทธ์ส่งเสริมการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายมากขึ้น

  160516338292          

ส่วนนโยบายการค้า มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) ร่วมกับพันธมิตร จะเป็นผลดีต่อไทยในการเจรจาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักสากลในระบอบพหุภาคี เน้นสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร เช่น อาเซียน ซึ่งเปิดโอกาสให้ไทยขยายการค้าเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ และเน้นความสัมพันธ์ทางการค้าแบบประนีประนอม อาจทำให้สหรัฐฯ ผ่อนปรนมาตรการทางการค้าแก่พันธมิตรเดิม เช่น สหภาพยุโรป ส่งผลให้สินค้าไทยบางกลุ่มแข่งขันสูงขึ้น เช่น รถยนต์สันดาป รวมทั้งอาจยกเลิกคว่ำบาตรประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เช่น เวเนซูเอล่า และอิหร่าน ทำให้มีน้ำมันออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น กดดันราคาน้ำมันในอนาคต และอาจใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและแรงงานในรูปแบบมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนต่อสินค้าส่งออกไทยและแข่งขันได้น้อยลง

ขณะที่นโยบายการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนกลับสหรัฐฯ จะเน้นในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีสื่อสาร ซึ่งกระทบต่อไทยน้อยกว่ากรณีของทรัมป์ และเป็นโอกาสให้นักลงทุนและธุรกิจไทยขยายการลงทุนไปยังในสหรัฐฯ หรือประเทศใกล้เคียง เช่น แคนาดาและเม็กซิโก ที่มีความตกลง USMCA กับสหรัฐฯ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดขยายฐานในกระจายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย

นางสาวพิมพ์ชน กล่าวว่า สำหรับโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพี (GSP) ที่จะหมดอายุวันที่ 31 ธ.ค.2563 สหรัฐฯ ยังไม่มีนโยบายชัดเจนว่าจะต่ออายุหรือไม่ โดยขณะนี้การต่ออายุโครงการไปถึงปี 2565 อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมาย ผ่านวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และประธานาธิบดีก่อน ซึ่งประเมินว่า มีแนวโน้มที่จะต่ออายุ GSP ให้เพียงแต่เงื่อนไขอาจจะเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปิดตลาดสินค้าที่สหรัฐฯ สนใจ โดยนายไบเดนจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์การค้า แต่ก็ต้องมีผลประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ไทยจะต้องระวังในเรี่องการบิดเบือนค่าเงิน โดยอาจถูกสหรัฐฯ จัดกลุ่มเป็นประเทศที่ต้องติดตามนโยบายค่าเงินอย่างใกล้ชิด ด้านอัตราแลกเปลี่ยน และต้องระวังการใช้มาตรการภายใต้มาตรา 301 (พฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม) รวมทั้งต้องติดตามการพิจารณากลับเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ที่จะมีผลกระทบต่อการค้าของไทย

          

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ในด้านการผลักดันการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 รองจากอาเซียน โดยไทยจะต้องเร่งผลักดันสินค้าที่มีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป โดยหมวดสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ทูน่ากระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สตาร์ชมันสำปะหลัง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผ้าผืนทำจากไหม โครงก่อสร้างทำด้วยเหล็ก ผ้าผืนทำจากฝ้าย เครื่องสุขภัณฑ์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง-ภาพ และอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด

ส่วนช่องทางการเข้าสู่ตลาด จะต้องเน้นการทำตลาดและส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะยังมีสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงเน้นการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เน้นโปรโมตสินค้าไทยในเมืองใหญ่และเมืองรอง เพื่อให้ติดตลาด โดยเฉพาะอาหารรูปแบบต่างๆ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทดแทนสินค้าจีน

สำหรับแนวทางรับมือในระยะยาว ไทยจะต้องร่วมมือกับอาเซียนในการสร้างพลังและอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสอดคล้องกับทั้งยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ และความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งทางของจีน อีกทั้งอาเซียนจะเป็นพันธมิตรที่สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญเพื่อคานอำนาจจีน โดยไทยต้องเร่งเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งอาเซียน อาเซียนพลัส อาร์เซ็ป CLMVT และ GMS รวมทั้งต้องสร้างบรรยากาศในการลงทุนที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ยกระดับการผลิต มาตรฐานสินค้า ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย เพื่อสร้างจุดแข็ง