ก.แรงงาน ยกระดับ “กระทรวงด้านสังคม” สู่ “กระทรวงด้านเศรษฐกิจ”
นฤมล - สุชาติ ตรวจเยี่ยมกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย “สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ” ย้ำ ให้มีการบูรณาร่วมกันทั้ง 5 เสือแรงงาน ย้ำ ต้องทำงานเชิงรุก ยกระดับกระทรวงแรงงาน จาก “กระทรวงด้านสังคม” ไปสู่ “การเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ”
วันนี้ (13 พฤศจิกายน) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมตรวจเยี่ยมกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อติดตามการดำเนินงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีผู้บริหารกระทรวงแรงงานร่วมตรวจเยี่ยม ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายสุชาติ กล่าวว่า ในสภาวะวิกฤตของประเทศที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทั้งสถานการณ์ covid-19 การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การเคลื่อนย้ายแรงงานโครงสร้างประชากรสังคมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลโดยตรงต่อแรงงานและโลกการทำงานจำเป็นอย่างยิ่งที่ข้าราชการกระทรวงแรงงานทุกระดับ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคต้องทำงานหนักมากขึ้น ร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างฉับไว จึงขอฝากข้าราชการทุกคนทุกระดับจัดทำแผนปฏิบัติการให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ รวมถึงทำงานเชิงรุกกับการทำงานให้ทันกับสถานการณ์และนำเทคโนโลยีดิจิทัล
ด้าน ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า การพบปะกับผู้บริหารของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพื่อต้องการเน้นย้ำให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะฝีมือที่ส่งผลให้แรงงานมีงานทำ และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น พร้อมติดตามผลการดำเนินงานที่ได้มอบนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงานภายใต้แนวคิด 3 ประการ คือ “สร้าง-ยก-ให้ รวมไทยสร้างชาติ” เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างฉับไว ตรงกับความต้องการของแรงงาน และสามารถต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน กพร. ได้ดำเนินโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานให้มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง เป็นแรงงานคุณภาพ ผ่านการดำเนินงานเชิงรุกอย่างเข้มข้น เพื่อยกระดับกระทรวงแรงงาน จาก “กระทรวงด้านสังคม” ไปสู่ “การเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ” โดยเน้นการผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระทรวงที่มีภารกิจเชื่อมโยงกันและบูรณาการกับภาครัฐและภาคเอกชน
รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า ฝากให้ กพร. ได้ติดตามการมีงานทำ ตลอดจนกลุ่มแรงงานที่ผ่านการอบรม ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่ เพื่อจะได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน ทั้งในด้านการสร้างแรงงานคุณภาพให้มีความรู้ มีทักษะใหม่ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก การยกระดับแรงงานให้มีความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจน เพื่อให้ได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือ รวมถึงการให้แรงงานกลุ่มเปราะบางทางสังคมมีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน การประกอบอาชีพ เพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ต่อไป
“การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 มีคนว่างงานและเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก มองหาอาชีพใหม่ จึงส่งผลให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีภารกิจการพัฒนาทักษะฝีมือเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องปรับตัวและวางแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ควรทำใน 3 เรื่องหลัก คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบอินเตอร์เน็ต เรื่องที่ 2 คือ การทำ platform เรื่องที่ 3 คือการสร้าง Content เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ ต้องทำพร้อมๆ กัน จึงจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชน” รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด