'ธรรมนัส' แจงประกาศ คปก.ช่วยเกษตรกรยากไร้มีที่ทำกิน ปัดเอื้อนายทุน

'ธรรมนัส' แจงประกาศ คปก.ช่วยเกษตรกรยากไร้มีที่ทำกิน ปัดเอื้อนายทุน

"ธรรมนัส" แจงประกาศคปก.เป็นแนวทางจนท.ปฎิบัติเพื่อให้เกษตรกรยากไร้มีที่ทำกิน และรายได้ยั่งยืน ไม่มีเปิดช่องให้กลุ่มผลประโยชณ์ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อกิจการอื่น

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงกรณีกระแสข่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ได้ปฏิบัติราชการแทนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คปก.) โดยลงนามประกาศคปก.เรื่องรายการกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯประกาศกำหนดมาตรา30วรรค 5แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)พ.ศ.2518แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส.ป.ก.(ฉบับที่3)พ.ศ.2532และพ.ศ.2563 เพื่ออนุญาตให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อกิจการอื่นๆที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีความชัดเจนเกิดมีผลสัมฤทธิ์ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบันและสอดคล้องตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม โดยลงนามในประกาศวันที่28ต.ค.2563 มีผลบังคับใช้ทันที  นั้น

สืบเนื่องจากที่ ส.ป.ก.มีอำนาจจัดที่ดินให้บุคคลซึ่งมิใช่เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรตามมาตรา ๓๐ วรรคห้า คือ การใช้ที่ดินเพื่อกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คปก. ก็มีอำนาจตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๙ กำหนดแนวทางให้ ส.ป.ก. ปฏิบัติได้ (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ ๓๙๑/๒๕๓๔) โดยเหตุแห่งการ ออกประกาศ คปก. ฉบับดังกล่าว ก็เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๗ ที่รัฐพึงกำหนดหลักเกณฑ์ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่และระยะเวลาในการดำเนินการ ตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และสอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมาย (มาตรา ๒๕๘ ค (๑) )

เนื่องจากที่ผ่านมา การพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ของ ส.ป.ก.จังหวัดต่าง ๆ เกิดความล่าช้า และเกิดการตีความไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เกิดความชะงักงันของผู้ประกอบการ ขาดความชัดเจนของแนวทางการพิจารณารายการกิจการตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สูญเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการ ทั้งทางด้านการตลาด การสาธิต การสร้างรายได้ การสร้างงาน การบริการขั้นพื้นฐานที่พึงเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน ในทุกพื้นที่

ทั้งนี้ ประกาศ คปก. ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ จึงเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๙ ประกาศรายการกิจการ ซึ่งเป็นกิจการที่พิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินภายใต้กรอบของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ คือ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯ เพื่อเป็นแนวทางการใช้ดุลยพินิจให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ใช้เป็นแนวทาง ในการปฏิบัติงานเท่านั้น ทั้งนี้ การพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ยังคงต้องอยู่ภายใต้ระเบียบ คปก. และข้อพิจารณาตามที่กล่าวมาข้างต้น  ดังนั้นประกาศ คปก. ดังกล่าว จึงไม่ใช่ฐานทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การเปิดช่อง หรือเอื้ออำนวยการให้มีการใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ไปเพื่อกิจการอื่นที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายปฏิรูปที่ดินแต่อย่างใด


 “ประกาศฉบับนี้ ผ่านการกลั่นกลองจากนักกฎหมายของ สปก. ผู้แทนจาก สภาพัฒน์ อดีต เลขา สปก. หลายๆท่าน และประเด็นสำคัญคือประโยชน์สูงสุดคือพี่น้องเกษตรกร อาชีพเกษตรกรผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน สปก. เราควรดูแลพวกเขา ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มิฉะนั้นพวกเขาก็ไม่สามารถหลุดจากกับดักแห่งความยากจนได้ การตลาดมีความสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ดังนั้น กิจการอื่นที่สนับสนุนอาชีพเกษตรกรจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการผลิต ประเด็นสำคัญคือ สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือสิ่งที่พี่น้องเกษตรกรเรียกร้องเพราะต้องการให้มีตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานแปรรูปผลผลิตภาคการเกษตร ดังนั้นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร คำว่าโรงงานแปรรูปหรือโรงงานที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกรจึงมีกฎหมายรองรับ “

ร.อ.ธรรมนัส ระบุว่า จากการไปประชุม ครม.สัญจรที่ภูเก็ต ตนได้รับรายงานจาก สปก.และรับฟังเสียงจาก ประชาชน ผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน สปก. ว่า สภาพที่ดินส่วนใหญ่กลางเป็นชุมชนไปกว่า 89% มีโรงแรม 3-5 ดาว กว่า300 แห่ง  เป็นโฮมสเตย์ ไม่น้อยกว่า100  แห่ง ประชาชนในหลายๆจังหวัดก็มีบริบทไม่ต่างกับ ภูเก๊ต กระบี่ พังงา ฯลฯ ดังนั้นควรมีการแก้ไขระเบียบ คปก. เพื่อยึดคืนหลวงก่อนดำเนินการให้ขั้นตอนต่อไป โดยมิให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชน ดังกล่าว 

สำหรับ กรอบแนวคิดการจัดที่ดินสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีดังนี้


1. ฐานอำนาจการจัดที่ดินกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ 

พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๒ ขยายขอบเขตการจัดที่ดินให้กว้างขวางขึ้นจากการนำที่ดินรัฐหรือที่ดินที่จัดซื้อ มาจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร เพื่อประกอบเกษตรกรรม หรือการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ให้มีอำนาจจัดที่ดินให้บุคคล (บุคคลธรรมดา นิติบุคคล :ไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น) เพื่อประกอบกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา ๓๐ วรรคห้า ดังนั้น ส.ป.ก. จึงมีอำนาจจัดที่ดินนอกจากการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจให้กระทำได้โดยชอบ


2. ขอบจำกัดของกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ 

กิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ จะต้องเป็นกิจการตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

3.. กรอบการพิจารณาการเป็นกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ


- กิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยพิจารณาจากลักษณะของกิจการและผลที่ได้จากการประกอบกิจการ (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามหนังสือที่ นร ๐๖๐๑/๕๙๖ ลว ๓ เมษายน ๒๕๓๕) ซึ่งเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้รับประโยชน์ จากกิจการนั้นโดยตรง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๑๗๒๘/๒๕๕๙)

4.ประเภทกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน

ปรากฏตามที่ประกาศไว้ในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดกกิจการอื่นที่เป็นการ สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา ๓๐ วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๒ (วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๓) และ ฉบับที่ ๒ (วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๓) คือ


๑. กิจการที่เป็นการสนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน หมายถึงกิจการ
๑.๑ กิจการทางวิชาการเกษตร การสาธิต การทดลอง เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร
๑.๒ กิจการที่ส่งเสริม หรือประกันราคาพืชผลทางเกษตร หรือลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร
๑.๓ กิจการที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน ส.ป.ก. ในการดำเนินการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลทาง การเกษตร
๑.๔ กิจการที่เป็นการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม และปัจจัยการผลิตตลอดจนการผลิต การจำหน่าย และการตลาดให้เกิดผลดียิ่งขึ้น
๑.๕ กิจการที่เป็นการบริการหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคมในเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งกิจการนั้นต้องอยู่ในพื้นที่ที่ คปก. กำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
๒. กิจการที่เป็นการเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หมายถึง กิจการแปรรูปผลิตผลเกษตรกรรม ซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก


กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับประเภทกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศ ให้ คปก. พิจารณาวินิจฉัย (คปก. ไม่มีอำนาจกำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่อง)


5.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ


ในขณะที่ มาตรา ๓๐ วรรคห้า เป็นฐานอำนาจให้ ส.ป.ก. มีอำนาจจัดที่ดินสำหรับกิจการอื่นที่เป็น การสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ แต่ทั้งนี้ ยังต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบที่ คปก. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดไว้ในระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตและการให้ผู้รับอนุญาตถือปฏิบัติในการใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์สำหรับกิจการที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๔๑


- ผู้มีอำนาจพิจารณา คือ - คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนเกษตรกร) (ระเบียบ คปก. ข้อ ๗)

- แผนงานโครงการฯ - ต้องแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่คาดว่าเกษตรกร สถาบันเกษตรกร เพื่อประกอบคำขออนุญาตฯ และ ส.ป.ก. จะได้รับ (ระเบียบ คปก. ข้อ ๔ (ช) )


- การบูรณาการร่วมกับชุมชน - กิจการที่ขออนุญาตจะต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชนและ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความปลอดภัยของราษฎรในพื้นที่ (ระเบียบ คปก. ข้อ ๑๑) (มีการประชาคมหมู่บ้าน/การประชุมสภา อบต. ในพื้นที่)


- การควบคุมตามกฎหมายอื่น - ก่อนลงมือก่อสร้างผู้เช่าต้องแสดงหลักฐานการได้รับอนุญาตให้ ก่อสร้างและต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการตามกฎหมาย มิเช่นนั้น ส.ป.ก.มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ (สัญญาเช่าที่ดินฯ ข้อ 5 - 6)


- ขนาดเนื้อที่ที่อนุญาต - ไม่เกิน ๕๐ ไร่ (มาตรา ๓๐ วรรคห้า)