เปิดแล้ว!! มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563
กระทรวงอว.ชวนร่วม“มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563”จัดอีเว้นท์ออนกราวด์แบบนิวนอร์มัล–เสริมแพลตฟอร์มออนไลน์ เพิ่มทางเลือกเรียนรู้วิทย์ในยุคโควิด-19
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในฐานะเป็นประธานเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563 ว่า วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์อย่างมาก ไม่เพียงประโยชน์ต่อสังคม บ้านเมือง แต่ยังให้ความเพลิดเพลินกับผู้คนจำนวนมาก ทำให้เด็กๆใฝ่เรียนรู้ รักการเฝ้าสังเกต ทดลอง ทดสอบ สรุปให้เป็นทฤษฎี ยิ่งไปกว่านั้น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำพาประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้ไทยหลุดพ้นกับดักสำคัญ 4 ด้าน คือกับดักรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการศึกษาและความขัดแย้ง
โดยบทบาทภารกิจของ กระทรวง อว. เปรียบได้กับหัวรถจักรที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต ประเทศของเราต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งหุ้นส่วนสำคัญที่จะนำพาการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้เกิดขึ้นจริงคือ ‘คน’ ขณะเดียวกัน เราต้องเตรียม ‘คน’ ของเราให้พร้อมเผชิญกับความผันผวนในโลกยุคใหม่และความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน และพร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยสิ่งที่กระทรวง อว. กำลังดำเนินการอยู่ คือ การทำให้เยาวชนไทย รวมทั้งนักศึกษาพัฒนาความรู้ไปทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องทำวิจัยเป็น คิดอย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล มองรอบด้าน โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน รวมทั้งผลักดันให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการสร้างสรรค์ผลงาน นวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมเพื่อรับมือกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง
ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าวอีกว่า พระมหากษัตริย์ไทยท่านทรงมีบทบาทสำคัญในการสร้างให้เกิดวิทยาศาสตร์ในไทย ทรงนำความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ดังเช่น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงศึกษาเรื่องการดูดาวโดยเรียนรู้จากเปอร์เซียและฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 4 “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นสมาชิกวารสารสิทธิบัตรของต่างประเทศ ท่านทรงแปลลิขสิทธิ์ทางปัญญาเรื่องเรือและปืน จนสามารถผลิตปืนของประเทศไทยได้เอง
รัชกาลที่ 9 ท่านทรงเป็น“พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำองค์ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มาใช้แก้ไขปัญหาความทุกข์ยากและ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย จนเป็นที่ประจักษ์ชัดและเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ
ในเมืองไทยวิทยาศาสตร์มีความเกี่ยวข้องกับกษัตริย์และขุนนางมาโดยตลอด ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกันวิทยาศาสตร์ถือเป็นงานอดิเรกของพระมหากษัตริย์ หรือขุนนางทางยุโรป เช่น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสเป็นผู้คิดค้นบอลลูน ในอดีตยังไม่มีอาชีพนักวิทยาศาสตร์ คำว่า ‘นักวิทยาศาสตร์’ เริ่มมีในศตวรรษที่ 19 ในสมัยเซอร์ไอแซคนิวตัน เราเรียกวิทยาศาสตร์ว่า ‘ปรัชญาว่าด้วยธรรมชาติ’ จนเมื่อถึงยุคของพวกเรา วิทยาศาสตร์ได้กลายเป็นอาชีพ
นอกจากนั้น ศ.พิเศษ ดร.เอนก ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัล Prime Minister’s Science Award 2020 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเยาวชนและครู ในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปสู่การต่อยอด ยกระดับให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกิดเป็นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมในอนาคต
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าการจัดงาน“มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563” ระหว่างวันที่ 13 – 23 พฤศจิกายน 2563 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” มีประเด็นสื่อสารถึงเรื่อง “BCG Model: Bio-Circular-Green Economy”เป็นนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม, ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การถอดรหัสศาสตร์พระราชา, กระบวนการและเป้าหมายการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0
รวมทั้งการเฉลิมฉลอง 2 วาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์และสังคมของโลกในปี2020 ได้แก่ ปีสากลแห่งสุขภาพพืช และปีสากลแห่งการพยาบาลและผดุงครรภ์ ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้เข้าชมงานมหกรรมวิทย์ฯ วันละประมาณ 1 แสนคนต่อวัน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสนใจของไทยกับวิทยาศาสตร์
สำหรับการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ กระทรวง อว. ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวม 93 หน่วยงานชั้นนำ จาก 11 ประเทศร่วมจัด เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นแก่เยาวชนและสังคมไทย พร้อมทั้งสร้างสรรค์วิธีการ รูปแบบการนำเสนอใหม่เสริมแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามา ที่ไม่เพียงช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงงานจากผู้เข้าชมงานที่อยู่พื้นที่ห่างไกลหรือผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมา แต่ยังเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ เพิ่มช่องทางเลือกให้ผู้เข้าชมงาน ให้สนุกไปกับกิจกรรมและเปิดมุมมองการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านช่องทางใหม่นี้ มี 2 ช่องทางในการเข้าชมงาน ช่องทางแรกคือเข้าชมงานในสถานที่จริงที่จะจัดขึ้น ตั้งแต่วันนี้ - 23 พฤศจิกายน 63 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. เข้าชมฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
พร้อมด้วยมาตรการจำกัดผู้เข้าชมงาน และมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามข้อกำหนดของรัฐบาล และช่องทางที่สองคือ ช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์งาน www.thailandnstfair.com และสามารถรับชมกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ที่จัดขึ้น เช่น การเยี่ยมชมงานของพรีเซนเตอร์และเหล่าคนดังที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ผ่านการถ่ายทอดสดในมุมมอง 360 องศา ทางเฟสบุ๊กของงาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH รวมทั้งร่วมสนุกกับกิจกรรมแจกของรางวัล Limited Edition ตลอดการจัดงานทุกวัน
สำหรับไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาด กระทรวง อว. ได้คัดเลือกนิทรรศการหลักที่มีเนื้อหาอยู่ในกระแสความสนใจของประชาชน มีความเป็นสากล และมุ่งเน้นการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ อาทิ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ, นิทรรศการเจาะนวัตกรรมเกม I Tech behind Games เรียนรู้นวัตกรรมในการพัฒนาเกมจนกลายมาเป็นกีฬาออนไลน์, ตื่นตาตื่นใจกับการจำลองชีวิตบนดาวอังคาร ในนิทรรศการหนึ่งวัน... (บนดาว)อังคาร | A Day on Mars, มาเรียนรู้ สู้มหันตภัยจิ๋วในนิทรรศการมหันตภัยจิ๋ว | Micro Monster