ผลสำรวจEABCชี้ดิจิทัลปัจจัยก้าวสู่New Normal

ผลสำรวจEABCชี้ดิจิทัลปัจจัยก้าวสู่New Normal

ผลสำรวจEABCชี้เทคโนโลยีดิจิทัลปัจจัยสำคัญก้าวสู่New Normal ขณะไทยหนุนการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน สอดคล้องไทยประเทศร่วมกลุ่มเจรจา“กฎระเบียบการค้าบริการภายใน”ของWTOเป็นชาติแรกในอาเซียนแล้ว

วานนี้ (14 พ.ย.)พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามกับสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (the East Asia Business Council: EABC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำ และผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน 10 + 3 และผู้แทนสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกของญี่ปุ่น ไทย และจีน ได้แก่ นาย Nobuhiko Sasaki ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร) นายไพรัช บูรพชัยศรี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นาย Zhang Shaogang รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมด้วย ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุมดังนี้

นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวว่าเป็นการประชุม เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน ซึ่งรวมถึงสถานการณ์และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกับผู้นำภาคเอกชนของอาเซียนบวกสาม

160536173299

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกที่ได้สนับสนุน ผลักดัน และช่วยสร้างความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนบวกสามให้ดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด–19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบเศรษฐกิจการค้า รัฐบาลไทยเห็นถึงความจำเป็นของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง ในการช่วยจัดการและแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกมิติและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผลสำรวจของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจและยุทธศาสตร์ดิจิทัลสู่ความปกติใหม่ชี้ให้เห็นว่า ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับตัวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจในยุค New Normal ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับภาครัฐเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการค้าดิจิทัลให้สอดรับกับกระแสการค้าโลกยุคใหม่

สำหรับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ MSMEs นั้น ไทยขอชื่นชมที่สภาธุรกิจเอเชียตะวันออกที่ได้เผยแพร่ e-Book เรื่อง พิธีการศุลกากรของเอเชียตะวันออก และอยู่ระหว่างจัดทำ e-Book เรื่อง แนวทางการลงทุนในเอเชียตะวันออก โดยข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้ MSMEs สามารถดำเนินธุรกิจภายในภูมิภาคอาเซียนบวกสามได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และทำให้ขยายปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างกันภายในภูมิภาคมากขึ้น

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอแนะของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกที่เสนอให้ความตกลงสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม ครอบคลุมการสำรองสินค้าเกษตรอื่นๆ นอกเหนือจากข้าว โดยเห็นว่าสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกควรหารือกับรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านการเกษตรและป่าไม้เกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ ไทยพร้อมที่สนับสนุน และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนในการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงเสริมสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคให้เข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ด้านรายงานข่าวจากองค์การการค้าโลก (WTO)  เปิดเผยว่า สมาชิกกลุ่มเจรจากฎระเบียบภายในสำหรับการค้าบริการ ได้แสดงการต้อนรับไทยในฐานะที่ร่วมเป็นสมาชิกลุ่มลำดับที่ 63 เมื่อ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา  ซึ่งครอบคลุมการค้าบริการมากกว่า 73% ของการค้าบริการโลก 

ทั้งนี้ไทย ถือเป็นชาติแรกของอาเซียนที่เข้าร่วมการเจรจาดังกล่าว สำหรับระเบียบการค้าบริการภายในจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและเพิ่มความโปร่งใสและสามารถคาดการณ์ได้

โดยประเทศไทย ถือเป็นเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนการค้าบริการต่อจีดีพีสัดส่วน ถึง 60%ตามรายงานล่าสุดของการจัดลำดับโดยธนาคารโลก และไทยยังเป็นประเทศหนึ่งที่มีบทบาทนำในการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อการค้าบริการ และมีอันดับความง่ายต่อการทำธุรกิจ ลำดับที่ 21 ตามที่ธนาคารโลกได้จัดอันดับไว้