เผยความคืบหน้า“7วัคซีนโควิด-19ในไทย”
ขณะที่ในต่างประเทศมีการเปิดเผยถึงการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แบบmRNAที่มีประสิทธิภาพสูง สำหรับในประเทศไทยมีการพัฒนาแบบเดียวกัน คาดทดลองในคนไทยระยะ1ช่วงหลังสงกรานต์ปีหน้า ส่วนแบบDNAเตรียมทดลองในคนระยะที่1 ที่ออสเตรเลีย ก่อนกลับมาทดลองในไทยต้นปี2564
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19ในประเทศไทย ปัจจุบันมีวัคซีนต้นแบบที่พัฒนาโดยนักวิจัยจำนวน 7 แพลตฟอร์ม รวมกว่า 20 ชนิดที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ประกอบด้วย 1.แบบmRNA พัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมการทดลองในมนุษย์ระยะที่หนึ่ง 2. แบบ DNA พัฒนาโดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด อยู่ระหว่างการเตรียมการทดลองในมนุษย์เช่นเดียวกัน โดยจะไปทดลองระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลีย 3.แบบโปรตีนซับยูนิต(Protein Subunit) พัฒนาโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผ่านขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพ/ความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง
4.วัคซีนเชื้อตาย(Inactivated) พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง ,ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในขั้นพัฒนาวัคซีนตัวเลือกระดับห้องปฏิบัติการ 5.คล้ายอนุภาคไวรัส (Viral Like Particle:VLP) พัฒนาโดย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช และสวทช.อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง 6.แบบใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) พัฒนาโดยสวทช. อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง และ7.แบบเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์(Live-attenuated) พัฒนาโดยสวทช.อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง
“ในส่วนของวัคซีนแบบDNA มีความคืบหน้าเพิ่มเติมคือ ขณะนี้บริษัท ไบโอเนทฯ ได้รับทุนจากรัฐบาลออสเตรเลียให้ไปทำการทดสอบในคนระยะที่ 1 ที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทดสอบในคนระยะที่ 1 ที่ประเทศออสเตรเลียก็จะกลับมาทดสอบในคนระยะที่ 2 ที่ประเทศไทย จากเดิมที่มีแผนจะทดสอบในคนระยะที่1ในประเทศไทยและทดสอบระยะที่ 2 ในต่างประเทศด้วย แต่ทุนจากประเทศออสเตรเลียได้รับการสนับสุนนอย่างรวดเร็ว ทางบริษัทฯจึงสามารถปรับแผนได้ระหว่างรอทดสอบในประเทศไทยก็ขยับไปทดสอบในคนที่ประเทศออสเตรียด้วย อย่างไรก็ตาม กรอบเวลาจะไม่คลาดเคลื่อนจะเตรียมการทดสอบในคนในประเทศไทยเหมือนเดิมในราวต้นปีหน้า”นพ.นครกล่าว
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า วัคซีนแบบmRNA ที่ศูนย์ฯวิจัยพัฒนาคาดว่าจะเริ่มทดลองในอาสาสมัครคนไทยระยะที่ 1 ช่วงหลังสงกรานต์ หรือประมาณวันที่ 19 เม.ย.2564 เพื่อหาขนาดวัคซีนที่เหมาะสมในคนไทย อาสาสมัครไม่มาก โดยแบ่งเป็นกลุ่ม อาจกลุ่มละ 12 คน ตามกลุ่มอายุ เช่น อายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน ส่วนอายุมากกว่านั้นอีก 36 คน โดยจะแบ่งจำนวนโด๊สที่แตกต่างกันไป
และเมื่อทราบจำนวนโดสในแต่ละกลุ่มอายุ หลังจากนั้นประมาณเดือน มิ.ย.2564 จะเข้าสู่การทดลองในอาสาสมัครระยะที่ 2 จะแบ่งช่วงอายุละ 300 คน รวม 600 คน ซึ่งจะมีเกณฑ์การคัดเลือก โดยทางทีมวิจัยจะมีการประกาศต่อสาธารณะให้ทราบผ่านทางเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ ซึ่งจะมีคณะกรรมการคัดเลือก