'ศบศ.' ผุดไอเดียโครงการ 'รถเก่าแลกรถใหม่' ตั้งเป้า 1 แสนคัน
ศบศ. รับทราบมาตรการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะกลางจนถึงระยะยาว หนุนยานยนต์ไฟฟ้า รับข้อเสนอมาตรการรถยนต์เก่าแลกรถใหม่ ส่งกระทรวงการคลังดูแพ็คเกจจูงใจให้เหมาะสม ก่อนเสนอเข้า ศบศ.อีกรอบ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบศ.) วันนี้ (18 พ.ย.) เห็นชอบในหลักการข้อเสนอโครงการบริหารเศรษฐกิจระยะปานกลางและระยะยาว ชุดที่ 2 ที่เสนอโดย คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว
ประกอบด้วยโครงการที่ควรได้รับการส่งเสริมแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มประกอบด้วย การขับเคลื่อน เศรษฐกิจอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองสะอาด เช่น โครงการรถแลกแจกแถม (รถเก่าแลกรถใหม่ 100,000 คัน) โครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าไทยชนะ และโครงการจัดหารถโดยสารเพื่อประชาชนของขสมก. โดยการเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ยังสนับสนุนการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การส่งเสริมการจ้างงาน เช่น การเสริมสร้างการจ้างงานในภูมิลำเนา โครงการบริบาลชุมชนระดับหมู่บ้าน การส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตประชารัฐ เป็นต้น การจัดตั้งสถานที่กักกันแรงงานต่างด้าวใน 11 จังหวัด และการบริหารจัดการภาครัฐด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศ เช่น การจัดทำข้อมูลด้านทรัพยากรการเงินของประเทศ รวมทั้งการรักษาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือรายละเอียดมาตรการ โครงการแหล่งเงิน และแนวทางการเร่งรัดขับเคลื่อนให้เป็นไปอย่างเหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมฯรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ซึ่งปรับตัวลดลง 6.4% โดยนับเป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง 12.1% ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2563 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สองของปีนี้ 6.5% รวม 9 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลง 6.7% ซึ่งการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับการฟื้นตัวขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและจำกัดการเดินทางภายในประเทศ