ตปท.ชื่นชมไทยนโยบายรับมือโควิด-19

ตปท.ชื่นชมไทยนโยบายรับมือโควิด-19

นายกฯ เผยโลกชื่นชมการดำเนินนโยบายรับมือโควิด-19 ของไทย ยกย่อเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดได้มากที่สุด

วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2563) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมกล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หลายประเทศยังคงมีการระบาดเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ประเทศในภาคพื้นยุโรป ขณะที่ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศในการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19 ดังนี้
 
1. การจัดอันดับดัชนีที่แสดงถึงการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 (Global COVID-19 Index (GCI) นั้น ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับหนึ่งในโลกในด้านการฟื้นตัวจากการโควิด-19 ซึ่งไทยได้รับการประเมินให้ได้คะแนนดีที่สุดในมิติด้านการฟื้นตัว (Global Recovery Index) และมิติด้านความรุนแรงของการระบาด (Global Severity Index)
 

2. มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ของสหรัฐ ซึ่งรายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพ (2019 Global Health Security Index) ที่มีการจัดอันดับประเทศทั้งหมดรวม 195 ประเทศในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก และอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย พร้อมยกย่องว่า ไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดได้มากที่สุด


 
3. เว็บไซต์ข่าวชื่อดังของสหรัฐฯ อย่าง U.S. News & World Report ซึ่งได้เผยผลการจัดอันดับประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก ประจำปี 2563 (Best Countries to Start a Business 2020) จัดอันดับให้ไทยเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ จากทั้งหมด 73 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติเข้ามาหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น
 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มีการพิจารณาถึงการลดระยะเวลากักตัวจาก 14 วัน เป็น 10 วัน โดยได้สั่งการให้
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประชุมร่วมกันอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันในการทำงาน นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน อาทิ โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น