กระทรวงอุตฯจับมือญี่ปุ่นหนุนIoTปั้นอุตอัจฉริยะ

กระทรวงอุตฯจับมือญี่ปุ่นหนุนIoTปั้นอุตอัจฉริยะ

กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมมือญี่ปุ่นเดินหน้า โปรเจค สมาร์ท โมโนซึคุริ ดึง IoT ปั้นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ทรานส์ฟอร์มภาคการผลิตไทยปี 2564

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ภายใต้เป้าหมายสำคัญสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเชื่อมโยงโดยใช้โครงข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet of Thing) หรือ IoT ทั้งนี้ประเทศไทยและญี่ปุ่น ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพเฉพาะทาง จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว จึงมีโครงการจัดตั้งทีมสนับสนุนอุตสาหกรรมอัจฉริยะของประเทศไทย หรือ สมาร์ท โมโนซึคุริ เพื่อสร้างบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต

โครงการดังกล่าวดำเนินการฝึกอบรมบุคคลากรโดย AOTS และ JTECS ซึ่งใช้วิธีการไคเซน (Kaizen) ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกันผ่านการใช้เครื่องมือ IoT ซึ่งได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการเดินทางไปฝึกอบรบที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ว่าด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินงานในปีนี้จึงมีรูปแบบการฝึกอบรบผ่านระบบ virtual และมีการเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงานของผู้ประกอบที่ได้นำระบบ IoT มาปรับใช้ในภาคการผลิต โดยได้แบ่งผู้เชี่ยวชาญเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรกหรือ Master Instructor เป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs รายอื่นได้ โดยอบรมในเดือน และกลุ่มสอง หรือ Instructor คือ ผู้เชี่ยวชาญที่เรียนรู้การแก้ปัญหาด้วย IoTs ในขั้นต้น โดยโครงการนี้จัดขึ้นระหว่าง เมษายน 2563 - มีนาคม 2564

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการสำคัญของ สมาร์ท โมโนซึคุริ หรือ Smart Manufacturing คือการฝึกบุคลากรให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาเพื่อทำการปรับปรุงและมองหาโอกาสการพัฒนากระบวนการผลิตในโรงงานด้วย IoT ตัวอย่างเช่น การควบคุมสถานะกระบวนการผลิตผ่านคอมพิวเตอร์จิ๋ว Raspberry Pi (ราสเบอร์รี่ พาย) และจอแสดงผลที่เชื่อมกับ สัญญาณไวไฟ (wifi) ซึ่งเป็นการลงทุนไม่ได้สูงมาก แต่สามารถช่วยให้ควบคุมการผลิตได้ตลอดเวลา หรือ real time ทำให้ฝ่ายผลิตเห็นภาพข้อมูลและมีการแจ้งเตือนเมื่อเกิดปัญหาในสายการผลิตผ่านไปยังไลน์กลุ่มในสมาร์ทโฟนได้

อย่างไรก็ดีการนำระบบ IoT เข้ามาใช้ในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมในเบื้องต้น ไม่ใช่การลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่สิ่งสำคัญของการนำ IoT (ไอโอที) มาใช้ในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นคือการที่บุคลากรสามารถวิเคราะห์ประเด็นปัญหาในโรงงานได้อย่างตรงจุดและเลือกใช้เทคนิคที่เหมาะสมในการพัฒนากระบวนงาน สร้างบุคลากร 4.0 เพื่อเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนองคาพยพไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมในปี 2564