สศก. เปิดปัจจัยท้าทาย เทรนด์สินค้าเกษตรปี64

สศก. เปิดปัจจัยท้าทาย เทรนด์สินค้าเกษตรปี64

ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นส่งผลให้การเพาะปลูกของไทยในปีนี้มีผลผลิตที่ดี ต่างจากคู่แข่งที่มีภัยธรรมชาติ ซึ่งในภาวะนี้ควรเป็นโอกาสของไทยที่จะมีผลผลิตที่สูงและราคาดี แต่มีเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรไทยปีนี้ และปี2564 ไม่น่าจะสดใส นั่นก็คือ โควิด-19

อัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การระบาดของโควิดแม้จะส่งผลให้ผู้บริโภคกักตุนสินค้า และมีส่วนผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยปรับเพิ่มขึ้น แต่ด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้แรงซื้อของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศลดลง เพราะต้องระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นการตั้งราคาสินค้าเกษตรให้อยู่ในระดับสูงเกินไปจะขายไม่ได้

นอกจากนี้ ยังต้องรอดูนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐว่าจะขับเคลื่อนทางด้านใดบ้าง เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก ทำให้การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร(จีดีพี)ของไทยต้องทำเดือนต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้น เมื่อนำมาวิเคราะห์กับผลผลิตสินค้าเกษตร ทำให้สามารถพยากรณ์แนวโน้มราคาพืชเศรษฐกิจ เช่น ยาง ปาล์มน้ำมัน ข้าว มันสำปะหลัง ซึ่งคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น แม้จีดีพีเกษตรในปีนี้จะติดลบ3.4 - 2.4%

160588813891

ทั้งนี้ ในส่วนของยางพารา ในปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิต 4.7 ล้านตัน ลดลงประมาณ 2 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ราคาในช่วงนี้อาจจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีปัจจัยภายนอก เช่นตลาดซื้อขายล่วงหน้า อัตราแลกเปลี่ยน เข้ามากดราคาในบางช่วง แต่จากผลผลิตที่ลดลง และกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลผลัดใบ ประกอบกับความต้องการใช้ถุงมือยาง มีมากขึ้นอุตสาหกรรมล้อยางเริ่มฟื้นตัว จึงเป็นแรงผลักให้ราคายางในช่วงต้นปีหน้าปรับเพิ่มขึ้น หรือจะไม่ลดลงไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉลี่ยกิโลกรัม(กก.)ละ 60 บาท

ด้านปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวไปถึงไตรมาสแรกของปี2564 เฉลี่ยปาล์มดิบที่กก.ละ 6-7 บาท น้ำมันปาล์ม(ซีพีโอ) กก.ละ 25 – 25.25บาท จากความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับมาตรการของรัฐที่กระตุ้นการใช้น้ำมันปาล์ม โดยการนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตกระแสไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล รวมทั้งการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินของผู้ประกอบการ ทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเฉลี่ยเดือนละ 2.4 แสนตัน ประกอบกับผลผลิตปาล์มน้ำมันในช่วงไตรมาสที่ 4 (ต.ค.- ธ.ค.) ออกสู่ตลาดน้อย ประมาณ 19% ของผลผลิตทั้งหมด 16.36 ล้านตัน โดยคิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบเดือนต.ค. 2.1 แสนตัน พ.ย.1.8 แสนตัน และธ.ค.1.6 แสนตัน ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสที่ 4 สต็อกน้ำมันปาล์มดิบลดลงเฉลี่ยอยู่ระหว่างเดือนละ 3-8 หมื่นตัน และคาดว่า 

ณ สิ้นปี 2563 สต็อกน้ำมันปาล์มดิบจะปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 2.8-3.2 แสนตัน จากสต็อกที่เหมาะสมที่ 2.5 แสนตัน

ขณะที่มันสำปะหลัง คาดว่าปีนี้จะมีผลผลิต 2.8 ล้านตัน หรืออาจจะน้อยกว่านี้เพราะ มีปัญหาโรคใบด่างเกิดขึ้น แนวทางแก้ไขโรคดังกล่าวคือโค่นแล้วเผาทำลาย ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดช่วงกลางเดือน พ.ย.- ธ.ค. ดังนั้นจึงคาดว่าราคาจะอยู่ในระดับที่ดี เพราะจีนสั่งซื้อมันเส้นจากไทยมากขึ้นเพื่อป้อนโรงงานเอทานอล ซึ่งปัจจุบันราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรได้รับเฉลี่ยที่ กก.ละ 2-2.50 บาท

สำหรับข้าว นาปีมีผลผลิต 25.5 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 6 % เนื่องจากน้ำฝนตกทั่วถึง เฉลี่ยราคาข้าว ที่ 8,000-8,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก ซึ่งราคาอาจจะลดลงเล็กน้อยเพราะเป็นช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดพร้อมกัน แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการผลักดันส่งออกข้าวไทยยังลำบาก เนื่องจากข้าวไทยมีราคาสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยมีช่องห่างของราคาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการระบาดของโควิด ทำให้กำลังซื้อลดลง โดยหันไปบริโภคข้าวชนิดอื่นที่ถูกกว่า และคุณภาพใกล้เคียงของไทย

“ราคาโดยรวมปีนี้ยังถือว่าดี เกษตรกรพอใจ แต่ราคาควรจะดีกว่านี้ หากไม่มีการระบาดของโควิด แต่หากมองในแง่ของเกษตรกร แล้ว ปีนี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ เพราะรัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ และมีมาตรการช่วยเหลือควบคู่ ซึ่งจะจูงใจให้เกษตรกรลงทุนต่อเนื่องในฤดูกาลผลิตต่อไป”

สิ่งที่รัฐบาลควรเข้ามาแก้ปัญหาในขณะนี้ควรมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อให้ขับเคลื่อนไปต่อให้ได้ในสถานการณ์ที่ท้าทายมากขึ้น ซึ่งในไตรมาสแรกของปี2564 จะเป็นช่วงจับตามองที่สำคัญ