จับตาแปลงโฉม 'ขนส่งเอกมัย' สู่ มิกซ์ยูสหมื่นล้าน
ลองนึกถึงภาพ "สถานีขนส่งเอกมัย" ที่คุ้นตา จากเดิมทีเป็นเพียงชายขอบกรุงเทพฯ เพื่อออกไปสู่ภาคตะวันออก แต่ความเจริญกำลังเรียกร้องให้ความคุ้นตา และหน้าที่ของที่ดินผืนนี้มีบทบาทที่เปลี่ยนไป
รายงานข่าวจากข่าวจากบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) โดยระบุว่า โครงการดังกล่าว บขส.มีแผนจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มูลค่าโครงการ 12,513 ล้านบาท ซี่งปัจจุบันได้จัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ความคุ้มค่าโครงการดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนที่จะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
“ตอนนี้ก็ทราบว่าหลังจากส่งรายงานการศึกษาให้กระทรวงฯ ก็ได้มีการขอความเห็นจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ สนข.ได้แจ้งต่อ บขส.มาว่ายังไม่สามารถนำเสนอโครงการเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาได้ เนื่องจากต้องการให้ บขส.จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)”
อย่างไรก็ดี การปรับการใช้ขนส่งเอกมัยนั้นตามพ.ร.บ. ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มีการกำหนดให้โครงการร่วมลงทุนต้องจัดทำอีไอเอ ทำการศึกษาผลกระทบประชาชนในท้องถิ่น รวมไปถึงผลกระทบเรื่องของการจราจรและระบบการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ โดยที่ผ่านมา บขส.ยังไม่ได้ดำเนินการจัดทำอีไอเอ เนื่องจากผลการศึกษาและวิเคราะห์ความคุ้มค่าโครงการ ที่จ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษา ไม่ได้มีการออกแบบโครงการอย่างละเอียดไว้ เป็นแค่การออกแบบคร่าวๆ เท่านั้น
อีกทั้ง เงื่อนไขในเอกสารยื่นข้อเสนอ (ทีโออาร์) โครงการ ได้กำหนดให้เอกชนเป็นผู้เสนอราคาพร้อมออกแบบก่อสร้างโครงการมาให้ บขส.เลือก ซึ่งกำหนดให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเอง ทั้งนี้เพื่อลดภาระต้นทุนของ บขส. ทำให้ขณะนี้ บขส.จึงยังไม่ได้ดำเนินการในส่วนของอีไอเอ เพื่อรอให้เอกชนผู้ชนะการประมูลเป็นฝ่ายดำเนินการ
รายงานข่าวจาก บขส.ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้มองว่า สนข. และ บขส.อาจมองกันคนละมุม ดังนั้นเร็วๆ นี้ บขส. และคณะที่ปรึกษาโครงการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะขอหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อหาทางออกในเรื่องของการจัดทำอีไอเอสามารถบรรจุไว้ให้เอกชนดำเนินการได้หรือไม่ หาก สคร.เห็นว่า บขส. ไม่ต้องทำอีไอเอก่อน ก็จะเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการร่วมทุนดังกล่าว
แต่หาก สคร.มีความเห็นว่า บขส.จำเป็นต้องจัดทำอีไอเอ ก็มีความจำเป็นต้องเสนอของบดำเนินการจากคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส.ซึ่งประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาจัดทำอีไอเอนานประมาณ 1-2 ปี อีกทั้งต้องรอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกประกาศเปลี่ยนแปลงผังเมืองจากสีน้ำเงิน เป็นส้มหรือน้ำตาล คาดว่าจะดำเนินการในช่วงปลายปี 2564 ดังนั้นอาจจะส่งผลกระทบทำให้โครงการต้องเปิดประมูลล่าช้าออกไปเป็นปี 2565 หรือ 2566 จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะเปิดประมูลภายในปีนี้
สำหรับโครงการพัฒนาสถานีขนส่งเอกมัย ใช้ชื่อว่า The Portal จะมีการนำพื้นที่สถานีเอกขนส่งเอกมัยในปัจจุบันราว 7.3 ไร่ มาเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาพัฒนาเป็นอาคารมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ โดยชั้นล่างสุดจะถูกพัฒนาเป็นสถานีขนส่งที่ทันสมัยในรูปแบบ Smart Station ส่วนชั้นบนจะพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้า โรงแรม สำนักงาน และที่จอดรถ
เบื้องต้น บขส.จะให้สัมปทานเอกชนผู้ชนะการประมูลระยะ 50 ปี และมีเงื่อนไขให้เอกชนที่ยื่นประมูลจะต้องหาพื้นที่รองรับการย้ายสถานีขนส่งเอกมัย ระหว่างการก่อสร้าง 3 ปี เพื่อให้ บขส.สามารถเดินรถได้อย่างต่อเนื่องและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 12,513 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ค่าเช่าที่ดิน 50 ปี จำนวน 8,306 ล้านบาท และ 2.ค่าก่อสร้าง 4,206 ล้านบาท โดย บขส.จะได้รับผลตอบแทนตลอดระยะเวลา 50 ปี จำนวน 8,038 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ค่าธรรมเนียมและค่าเช่าที่ดิน 50 ปี จำนวน 3,349 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไร 50 ปี จำนวน 4,689 ล้านบาท
ส่วนเอกชนที่ร่วมทุนจะได้ผลตอบแทน ดังนี้ 1.รายรับรวมตลอด 50 ปี จำนวน 144,350 ล้านบาท 2.รายจ่ายรวม ตลอด 50 ปี 49,931 ล้านบาท และ 3.มีผลตอบแทน (Internal Rate of Return: IRR) เท่ากับ 14.2% และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value) เท่ากับ 3,480 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาคืนทุนที่ 13 ปี