กยท.ลุยวิจัยน"ยางพารา"โปรตีนต่ำ
กยท. กับ ม.อ. เล็งตั้งศูนย์วิจัยการแพ้ ผลิตยางโปรตีนต่ำ หลังมีคนเสียชีวิต ส่งผลต่อเสถียรภาพราคา ขณะแนวโน้มใช้ถุงมือจากยางสังเคราะห์มากขึ้น กว่า 10 เท่า
นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยภายหลังการเสวนา เรื่อง การแพ้โปรตีนในยางพารา โดย ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ว่า จุดอ่อนที่น้ำยางธรรมชาติถูกโจมตีมากที่สุดคือ เรื่องโปรตีนที่อยู่ในยาง ทำให้เกิดอาการแพ้ในบางคน
ช่วง 14-15 ปีที่ผ่านมา จากความต้องการยางพาราสังเคราะห์ ในการทำถุงมือโดยเฉพาะถุงมือทางการแพทย์ เช่น ยางไนไตรล์ ยางคลอโรฟิลล์ เป็นต้น มีการเพิ่มขึ้น มากกว่าถุงมือยางพาราธรรมชาติ มากกว่า 10 เท่าตัว หลังจากบริษัททำถุงมือยางของอังกฤษพบคนอังกฤษ 1 คน เกิดอาการแพ้และเสียชีวิตหลังจากใส่ถุงมือยางพาราเนื่องจากแพ้โปรตีนที่มีอยู่ในยางธรรมชาติ
ช่วง 7-8 ปีก่อน มีการปรับเปลี่ยนไปใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น ยางธรรมชาติจึงถูกโจมตีมาตลอดว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพ้ ด้วยองค์ความรู้ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีวิจัยที่เรียกว่า “โปรตีนต่ำ” คือระดับโปรตีนที่อยู่ในยางพาราต่ำกว่ามาตรฐานของอเมริกาหรือยุโรปที่อนุญาตให้ถุงมือยางพาราธรรมชาติ
เมื่อมีการโจมตี เรื่องโปรตีนในยางธรรมชาติ จึงส่งผลต่อเสถียรภาพราคายางพารา ดังนั้น กยท.ร่วมมือกับ ม.อ.เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจในเรื่องของงานวิจัย เพื่อยืนยัน การมีอยู่ของโปรตีนในยางพาราที่ต่ำมาก เพื่อให้ประเทศผู้ซื้อเข้าใจสร้างความต้องการอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น จนเป็นความมั่นคงอย่างถาวร
นายเจริญ นาคะสรรค์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การแพ้โปรตีนมีความจริงมากน้อยแค่ไหน ไม่มีใครรู้ ประเทศไทยที่ผลิตยางพาราธรรมชาติเอง ไม่เคยทำวิจัยมาป้องกันตัวเอง มีแต่ไปตามวิจัยของต่างชาติ ดังนั้นนักวิชาการ ม.อ.จึงเตรียมศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
หวังว่าภายใน 5-10 ปี จะพลิกอุตสาหกรรมถุงมือยางในประเทศ รวบรวมงานวิจัยเพื่อดำเนินการลดโปรตีนในยางพารา จะจัดตั้งศูนย์วิจัยการแพ้โปรตีนในยางพารา ร่วมกับ กยท. และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียาง ชีวเคมี และการแพทย์ เพื่อกู้ตลาดถุงมือยางธรรมชาติกลับคืน ยืนยันว่า ถุงมือยางธรรมชาติดีกว่ายางสังเคราะห์ มีความเข็งแรงและยืดหยุ่นดีกว่า
นายวรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ม.อ. กล่าวว่า ในฐานะแพทย์ที่ใช้ถุงมือยางธรรมชาติจริง ตนเป็นผู้ใช้ที่อยากให้ใช้ยางธรรมชาติมากยิ่งขึ้น จากประสบการณ์ ถุงมือยางสังเคราะห์ ที่เป็นไนไตรล์ ก็มีคนที่แพ้เช่นกัน จึงอยากเปิดมิติใหม่ให้กับวงการยางพาราและวงการแพทย์ของไทย
“ผมยินดีที่ได้เป็นตัวแทนบุคลากรของวงการสาธารณสุขไทย ถ้าหากเราได้เป็นหนึ่งในกระบอกเสียง ว่าจริงๆ แล้วนอกจากที่เราใช้งานเพียงอย่างเดียวแล้วนั้น เรามองไปถึงต้นตอและวัตถุดิบบางอย่างที่สามารถที่จะลดการนำเข้า เพิ่มมูลค่ายางพาราไทย ในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ของไทยได้”