ตั้งกองทุนอุ้มท่องเที่ยว ทำให้ทันก่อนธุรกิจปิดตัว
ที่ผ่านมาวิกฤติเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยอย่างมาก ซอฟท์โลนถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ รวมถึงมีการเสนอให้ตั้งกองทุนเพื่อปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง สิ่งสำคัญคือ ต้องเร่งดำเนินการให้ทันเวลา ก่อนที่ภาคธุรกิจจะหมดลมหายใจ
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมาก โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของไทยที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการเดินทางระหว่างประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง โดยอัตราการเข้าพักล่าสุดเดือน ก.ย.2563 อยู่ที่ระดับ 27.98% ถึงแม้ว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.ของปีนี้ มีอัตราการเข้าพัก 77.97% ซึ่งเป็นช่วงก่อนพบการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวของไทยยังปกติ
ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลรับทราบถึงปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบด้านสภาพคล่อง โดยออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (ซอฟท์โลนให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก
ผลการปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนดังกล่าวพบว่าในช่วงแรกมีการใช้เกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อแบบสถานการณ์ปกติ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์พิจารณาลูกค้าของตัวเองเป็นลำดับแรก ทำให้การปล่อยสินเชื่อมีความล่าช้า ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามหาทางแก้ปัญหานี้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ แต่ดูเหมือนว่าการปล่อยสินเชื่อแบบซอฟท์โลนยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้
ธปท.ได้สรุปความก้าวหน้าโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำถึงวันที่ 23 พ.ย.2563 พบว่ามีสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 121,692 ล้านบาท มีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อ 73,048 ราย คิดเป็นสินเชื่อที่อนุมัติเฉลี่ยต่อรายที่ 1.7 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ประกอบการทั้งในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มธุรกิจอื่นยังคงมีเสียงเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นในปี 2564 ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากปี 2563
ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีข้อเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอี เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงซอฟท์โลน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวถูกนำมาพิจารณาร่วมกับข้อเสนอขององค์กรธุรกิจที่ต้องการให้แก้ปัญหาเดียวกัน และนำมาสู่แนวคิดการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจอย่างรุนแรง โดยเมื่อหารือตกผลึกแล้วสิ่งสำคัญหลังจากนี้คือ การเร่งดำเนินการให้ทันเวลา ก่อนที่ภาคธุรกิจจะหมดลมหายใจ