คอส.จ.สุรินทร์ โมเดลความสำเร็จควบคุม “ปัจจัยเสี่ยง”
"คนสุรินทร์ ไม่กินสุรา เป็นเทวดาสุรินทร์” ยังคงเป็นวาทกรรมที่ชาวเมืองสุรินทร์ต้องการสร้างให้เกิดเป็นค่านิยมของคนเมืองช้างแห่งนี้ เพื่อลบภาพจำและค่านิยมเดิมที่ว่า “สุรินทร์ถิ่นสุรา” หรือ “คนสุรินทร์กินสุรา”
การเปลี่ยนแปลงค่านิยมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเทศกาลงานบุญประเพณี โดยเฉพาะ “งานช้าง” งานวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามและยิ่งใหญ่ระดับชาติ ด้วยการสร้างค่านิยมใหม่ไม่ดื่มในงาน เพื่อให้งานช้างมีความสนุกและปลอดภัย ภายใต้แนวคิด มหัศจรรย์งานช้างสร้างสุขปลอดเหล้า ปลอดภัย ไร้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภาคอีสานตอนล่าง สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหนึ่งองค์กรสำคัญในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ โดยบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและหน่วยงานภาครัฐซึ่งนำ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกาศเมื่อปี 2551 มาบังคับใช้อย่างจริงจัง
กว่า 10 ปี ที่มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปกับการป้องกันและควบคุมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้งานประเพณีอันงดงามของชาวสุรินทร์ไร้แอลกอฮอล์แบบ 100 % พบว่า สถิติคนเจ็บ คนตาย และเหตุรุนแรงอันเนื่องมาจากสุราลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยปี 2551 ก่อนการณรงค์งดเหล้าในงานช้าง พบมีผู้บาดเจ็บ 139 ราย เสียชีวิต 3 รายล่าสุดปี 2563 ภายใต้ชื่อ 60 ปี งานช้าง สุรินทร์ ไม่พบผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียวโดยต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 10 นับตั้งแต่มีการรณรงค์อย่างจริงจัง ผลความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วน
โดยเฉพาะ ชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังการละเมิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ภายใต้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ (คอส.) อันประกอบด้วย สาธารณสุขจังหวัดสรรพสามิต ชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายและภาคประชาสังคมซึ่งจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและรณรงค์ทางสังคม
นายบำรุง เป็นสุข หัวหน้าเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภาคอีสานตอนล่าง จ.สุรินทร์ กล่าวว่าช้างมีความผูกพันกับคนสุรินทร์มายาวนาน งานบุญประเพณีต่างๆ มักจะมีช้างร่วมในพิธีกรรมด้วยเสมอ วิถีคนกับช้างและความมหัศจรรย์ของช้างที่สามารถฝึกฝนให้แสดงออกในด้านต่างๆได้ จากวิถีจึงนำมาสู่งานประจำปีของงานช้างจังหวัดสุรินทร์ แต่ระยะหลังประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านอันงดงามกลับกลายเป็นงานที่มีความรุนแรงมากขึ้น อันเนื่องมาจากแอลกอฮอล์หรือเหล้าเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่ การทะเลาะวิวาท รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตรวมไปถึงการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ
“ค่านิยมเดิมที่ว่า มาสุรินทร์ต้องกินสุรา หรือ สุรินทร์ถิ่นสุรา มันเป็นคำกล่าวที่บิดเบี้ยว เหมือนเป็นตราบาปให้กับคนสุรินทร์ ซึ่งเราไม่ต้องการแบบนั้น เราอยากให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวงานช้างอย่างมีความสุขและปลอดภัย ไม่ใช่มาพบกับความรุนแรงและเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ หลายคนไม่ต้องการให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเครื่องวัดคุณค่าของความเป็นสุรินทร์ จากการสำรวจเมื่อปี 2550 พบว่าร้อยละ 95 ต้องการให้งานช้างปลอดเหล้า ตั้งแต่นั้นเราจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มคนสุรินทร์สร้างสุขเพื่อร่วมหารือในการทำให้งานช้างซึ่งเป็นอัตลักษณ์อันงดงามมีความปลอดภัย โดยเริ่มรณรงค์ตั้งแต่ปี 52 และต้องขอบคุณทางสำนักงานจังหวัดที่ไม่รับการสนับสนุนจากผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และร่วมรณรงค์กับเราอย่างจริงจังเพื่อที่จะให้บรรยากาศของงานช้างปลอดภัย ตั้งแต่นั้นมาคนตายในงานไม่เคยมีเลยสิบกว่าปีที่ผ่านมาเราภูมิใจอย่างมาก” นายบำรุงกล่าว
การทำงานร่วมโดยการบูรณาการของภาคประชาสังคมและอาสาสมัครกับทางราชการโดยเฉพาะ ชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังการละเมิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ของคอส. ซึ่งมีตัวแทนเครือข่ายจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ อาสาสมัคร และภาคประชาคมร่วมกันปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มตลอดข้นตลอดระยะเวลาการจัดงาน คอส.จึงนับว่าเป็นกลไกสำคัญที่เป็นเสมือนม้าเร็วให้การทำงานขับเคลื่อนเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว สามารถลดภาพความรุนแรงของงานช้างลงอย่างเห็นได้ชัดทำให้วันนี้ งานช้างสุรินทร์ กลับมามีความงดงามและทรงคุณค่าดังเดิม
ด้านนายธนากร มณีศรี ประธานเครือข่ายเฝ้าระวังควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ภาคประชาชน กล่าวว่าการรณรงค์สร้างการรับรู้ในการบังคับใช้กฎหมายในหลายพื้นที่ ประชาชนรับทราบ ห้ามดื่ม ห้ามขาย ในพื้นที่การจัดงานซึ่งเป็นสถานที่ราชการ แต่ก็มีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการหลบเลี่ยงกฎหมาย โดยใส่ขวดน้ำดื่มมาแอบวางตามกำแพงรั้วคอนเสิร์ตบ้าง จะเห็นว่าการรณรงค์อย่างเดียวไม่ได้ผล แต่หลังจากบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น มีการจับปรับจริง
โดยส่วนใหญ่เจอจับครั้งแรกก็ไม่มีครั้งที่สองแล้ว และจากการเฝ้าระวังอย่างเต็มกำลัง ทำให้การทะเลาะวิวาทอันมีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งปี 2563 ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงภายในงานแม้แต่รายเดียว แอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุของการเกิดอันตรายต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาทรวมไปถึงปัญหาครอบครัวด้านอื่นๆ จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
นพ.อภิสรรค์ บุญประดับ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.สุรินทร์ กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ (คอส.) เป็นกลไกการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดโดยจะมีทางสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับภาคประชาคมต่างๆ เรามีภาคประชาชนและจิตอาสาเข้ามาเป็นเครือข่ายร่วมทำให้การทำงานของเราสามารถลงไปในระดับพื้นที่ได้ ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการ โดยจะมี ชุดปฏิบัติการของ คอส.ร่วมในทุกเทศกาลงานบุญประเพณีซึ่งมีการรณรงค์ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว รวมถึงอาสาสมัครภาคประชาชนก็มีส่วนสำคัญ เป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง
อสม. เป็นอีกหน่วยสำคัญในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงทุกชุมชนหมู่บ้านให้ประชาชนได้รับทราบว่าทางราชการเน้นนโยบายจับปรับจริง ตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่เอาจริงในเรื่องนี้ ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานที่ผ่านมา คือ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขายอย่างต่อเนื่องของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการโฆษณาผ่านโลโก้ซึ่งมีผลให้นักดื่มหน้าใหม่อยากลอง ฝ่ายคณะทำงานยังคงต่อสู้อย่างเต็มกำลังพยายามสร้างความเข้มแข็งให้ขยายออกไปถึงระดับอำเภอ ก่อนลงไปถึงตำบลและหมู่บ้านในที่สุด
ด้าน พ.ต.ท.อรรถพล พลยางนอก สารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเมืองสุรินทร์ กล่าวเสริมว่าพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปรียบเทียบปรับผู้ที่ดื่มในสถานที่ราชการมีอัตราโทษปรับ ครั้งแรก 3,000 บาทครั้งที่สอง 6,000 บาท และครั้งที่สาม 9,000 บาท ถือว่าการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเตือน บังคับให้คนไม่กล้าที่จะกระทำผิด งานช้างปีนี้โดยเฉพาะเวทีคอนเสิร์ตทั้งที่มีคนจำนวนมากแต่ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย
อย่างไรก็ดี สคล.ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน นักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ และพ่อค้าแม่ค้าในงานมหัศจรรย์งานช้างและกาชาดจังหวัดสุรินทร์ ประจำปี 2563 จำนวน 400 คน พบว่า ร้อยละ 84 ทราบมาก่อนว่างานช้างและกาชาดสุรินทร์จัดแบบปลอดเหล้าเบียร์มากว่า 10 ปีแล้ว และร้อยละ 95 เห็นด้วยที่งานมหัศจรรย์งานช้างและกาชาดจังหวัดสุรินทร์ จัดแบบปลอดเหล้าเบียร์ โดยประชาชนร้อยละ 83 ยังคงสนับสนุนวาทกรรม “คนสุรินทร์ไม่กินสุราเป็นเทวดาสุรินทร์” และ ร้อยละ 77 เห็นว่าการจัดงานที่มีการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยและส่งผลให้ภาพรวมของการจัดงานในช่วง 10 ปีทีผ่านมาดีขึ้นกว่าเดิม
อนึ่งประชาชน ร้อยละ 79 ยังมีความห่วงใยต่อการจัดงานในส่วนของการแสดงดนตรีฟรีคอนเสิร์ตที่มักเป็นมูลเหตุสำคัญที่นำไปสู่การทะเลาะวิวาทและอันตรายที่จะเกิดขึ้นตามมา พร้อมแนะสร้างกิจกรรมใหม่ๆเพื่อทดแทน อาทิ ส่งเสริมการแสดงเรื่องราวตำนานความเป็นมาของช้าง วิถีชีวิตของคนกับช้าง การเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ที่หลากหลายสำหรับเด็กเยาวชนและกิจกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนสุรินทร์ให้มากขึ้น