สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ เจ้าฟ้าพระองค์แรกของพระราชวงศ์ไทย ที่ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านศิลปะ
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ เจ้าฟ้าพระองค์แรกของพระราชวงศ์ไทย ที่ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านศิลปะปริญญาแห่งความสุขที่ทรงเลือกศึกษาด้วยพระองค์เอง
“ลูกมีหน้าที่จะต้องเรียนหนังสือให้มีความรู้ เพื่อจะได้ออกมาทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสอน ศ. ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี วรขัตติยราชนารี ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นับแต่นั้นมา ทรงยึดถือพระราชดำรัสนี้ มาเป็นแรงบันดาลพระทัยและพลังขับเคลื่อนในทรงงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนตราบจนถึงทุกวันนี้ โดยทรงตัดสินพระทัยเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ตามพระราชประสงค์ของพระราชมารดา แม้จะโปรดด้านศิลปะก็ตาม ภายหลังทรงสำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ถึง 4 ปริญญาบัตรแล้ว ศ. ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระปณิธานมุ่งมั่นในการศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ด้านวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชนให้สามารถอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอย่างมีความสุข อาทิ ทรงก่อตั้ง มูลนิธิจุฬาภรณ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์และการสาธารณสุข โดยนำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งและผู้ป่วยทั่วไป รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศอีกด้วย
หลายทศวรรษของการทรงงานด้านวิจัยวิทยาศาสตร์ เพื่อประเทศชาติ และประชาชนอันเป็นที่รักของพระองค์ ยามเมื่อทรงว่างเว้นจากพระกรณียกิจนานัปการ ทรงกลับมาทบทวนถึงการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา และค้นพบว่า ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ทรงรักและมีความสุขทุกครั้งเมื่อคิดถึงหรือมีโอกาสได้ทำ คือ “การทำงานศิลปะ” ซึ่งเปรียบเสมือนการบำบัดจิตใจ (Art Therapy) ให้มีความสุขและผ่อนคลาย หลังจากเสร็จสิ้นจากพระภารกิจที่เกี่ยวพันกับชีวิตและความทุกข์ของผู้อื่นตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา
- จุดเริ่มต้นของความรักและความสุขจากการที่ได้ทรงงานศิลปะ
เริ่มขึ้นจากการที่ทรงวาดภาพธรรมชาติ และดอกไม้นานาพันธุ์ที่อยู่รายรอบ เช่น ภาพดอกบัว ดอกกุหลาบ และผีเสื้อ จากนั้น ทรงส่งต่อความสุข โดยการนำลวดลายต่าง ๆ ที่ได้จากภาพวาด ไปผลิตเป็นผ้าพันคอ และเสื้อคอโปโล ฯลฯ เพื่อหารายได้ช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ด้อยโอกาส จากนั้น ด้วยพระปรีชาสามารถในด้านศิลปะ ทรงได้รับเชิญจาก บริษัท แอสปรี ลอนดอน สหราชอาณาจักร ให้ร่วมออกแบบเครื่องประดับอัญมณี และเครื่องแต่งกาย โดยมีแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพระองค์ บูรณาการศาสตร์หลายแขนงเข้าไปในชิ้นงาน โดยใช้ลวดลายสูตรเคมีคณิตศาสตร์ สัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งทรงมีจากกิจกรรมวาดภาพที่ทรงโปรดและทรงมีพระสมาธิในการวาดภาพติดต่อกันหลายชั่วโมง เป็นเหตุให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงสังเกตเห็น และได้กราบบังคมทูลว่า “น่าจะได้ทรงเรียนเขียนลายไทยด้วย”
เพื่อนำลายไทยและความเป็นไทยแต่งแต้มจัดวางไว้ในภาพวาดฝีพระหัตถ์ และเครื่องประดับที่ทรงออกแบบ จากนั้น ศ. ดร.สมเด็จ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จึงทรงเริ่มเรียนการวาดลายเส้นจิตรกรรมไทย โดยคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ขอพระราชทานพระอนุญาตให้ นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เป็นพระอาจารย์ถวายการสอน และจากการทรงเรียนวาดลายเส้นจิตรกรรมไทยในครั้งนั้น ได้เป็นแรงบันดาลพระทัยให้ทรงอยากจะศึกษาการวาดภาพอย่างจริงจัง จึงทรงมีประสงค์ที่จะทรงศึกษาตามระบบของมหาวิทยาลัยศิลปากร ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ เช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไป ทรงสมัครเรียนแบบออนไลน์ และกรอกเอกสารการสมัครเรียน พร้อมกับแนบ Portfolio ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์รูปเสือ เสนอคณะกรรมการหลักสูตรฯ พิจารณาเช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไป ทรงมีพระนามปรากฏอยู่ในทะเบียนรายชื่อนักศึกษา ปีการศึกษา 1/2560 เลขที่1 รหัสประจำตัว 60007806 ร่วมกับพระสหายร่วมรุ่น 5 คน ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์
ตลอดระยะเวลา 3 ปี ระหว่างทรงศึกษา ทรงปฏิบัติพระองค์เฉกเช่นนักศึกษาปกติทั่วไป พระวิริยะอุตสาหะ ผนวกกับความมุ่งมั่นต่อการเรียน ทรงไม่ย่อท้อ แม้จะมีพระภารกิจมากมายนานัปการ รวมไปถึงอุปสรรคต่าง ๆ และพระสุขภาพของพระองค์เอง ก็ยังทรงเขียนรูปตลอดเวลา ระหว่างการเรียนการสอนทั้งที่คณะจิตรกรรมฯ และพระตำหนักฯ ทรงนำผลงานจำนวนมากมาให้คณาจารย์ผู้ถวายการสอนได้แนะนำและวิจารณ์ทุกครั้ง และด้วยความตั้งพระทัยกอปรกับพระวิริยะอุตสาหะนี้เอง จึงเป็นสิ่งที่คณาจารย์ผู้ถวายการสอนมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก
ด้วยพระประสงค์ที่จะทรงศึกษาตามหลักสูตรสาขาวิชาทัศนศิลป์ฯ ซึ่งหลักสูตรฯ นี้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็น “ศิลปินมืออาชีพ” โดยผู้เรียนต้องพัฒนาทักษะจากการลงมือปฏิบัติ ซึ่งพระองค์จะต้องทรงนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ด้วยพระองค์เอง และด้วยกฎของการทำวิทยานิพนธ์ด้วยการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน 2 ครั้ง ซึ่งทรงดำเนินการทุกอย่างตามกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย โดยทรงนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ครั้งแรกในชุด “หลากลาย หลายชีวิต” (Various Pattern; Diversity of Life) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และในครั้งที่ 2 โปรดให้จัด
นิทรรศการวิทยานิพนธ์ เพื่อการสอบจบภาคการศึกษา ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 โดยการสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ครั้งสุดท้ายเพื่อจบการศึกษานี้ เป็นการสอบปากเปล่าประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งมีคณะกรรมการสอบ ได้แก่ ประธานหลักสูตร อาจารย์ที่ปรึกษา กรรมการประจำหลักสูตรเป็นผู้สอบ หลังจากเสร็จสิ้น คณะกรรมการสอบได้ลงมติให้ การสอบครั้งนี้ “ผ่าน” เป็นเอกฉันท์ ในคะแนนระดับ “ดีมาก”
สำหรับนิทรรศการวิทยานิพนธ์ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด “หลากลาย หลายชีวิต” (Various Patterns; Diversity of Life) ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นผลงานภาพวาดที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางอัตลักษณ์ หลากหลายทฤษฏี หลากหลายกลวิธีของมนุษย์ที่สามารถอยู่รวมด้วยกันได้ ทรงใช้สัญลักษณ์สื่อความหมายการแสดงออกจากสิ่งที่ทรงมีความประทับใจ นั่นคือ “เจ้าป่า” อันสื่อความหมายถึง “พระราชบิดา” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยแสดงแนวความคิดเกี่ยวกับเสือเจ้าป่า ผู้เปรียบเสมือนราชา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ผ่านการสร้างสรรค์ที่ทรงถ่ายทอดผ่านปลายปากกาเป็นรูปลักษณ์ของเสือท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันตามเรื่องราวและเนื้อหาในแต่ละภาพ เป็นเสือที่ใจดี มีเมตตา เพียรสอนสั่งและกระทำสิ่งดีงามต่อผู้อื่น เป็นเสือที่มีแต่ความรักและความปรารถนาดีต่อทุกคน
นอกจากนั้น ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์นี้ ยังใช้เทคนิควิธีการสร้างสรรค์งานด้วยสีวิทยาศาสตร์สำเร็จรูป เป็นสีเมจิกหลายสีชนิดหัวแหลม เป็นสีน้ำที่ไม่มีพิษ ไม่มีกลิ่น และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม นั่นคือสีโคปิค (Copic) นับเป็นพระองค์แรก และครั้งแรกในการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานจาก “สีโคปิค”
ส่วนรูปแบบการแสดงออกทางศิลปะในผลงาน ชุดนี้ ทรงบูรณาการศาสตร์แขนงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการแพทย์ และการแพทย์ ฯลฯ โดยทรงนำลวดลายสัญลักษณ์สูตร เคมี รูปทรงโมเลกุล การประกอบของตัวพันธะเคมีในโมเลกุล ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น ตัวเลข รูปหัวใจ ดอกไม้ และทิวทัศน์ธรรมชาติเข้ามาอยู่ในผลงาน รวมถึง “นกฮูก” และ “สัตว์ปีกต่าง ๆ” ร่วมถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ผ่านรูปทรง ความหมาย เรื่องราว และความเป็นตัวตนของสรรพสิ่งในบริบทรอบข้าง ทรงส่งต่อความฝันและความรู้สึกนั้น ๆ ไปยังประชาชนชาวไทย รวมไปถึงผู้คนบนโลกนี้ด้วย ซึ่งเรียกงานศิลปะลักษณะนี้ว่า “ศิลปะนาอีฟ” (Naïve Art) หรือศิลปะที่ซื่อตรงและบริสุทธิ์ ดังพระดำรัสเกี่ยวกับงานศิลปะตอนหนึ่งว่า... “งานศิลปะทำให้ข้าพเจ้ามีความสุข ข้าพเจ้าจึงอยากแบ่งปันความสุขให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย”
จากความสุขพระทัยในการสร้างสรรค์งานศิลปะงานที่ทรงรัก ขณะเดียวกันกับที่อีกห้วงความรู้สึกหนึ่งคือความปรารถนาที่จะให้ประชาชนชาวไทยของพระองค์มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเข้าถึงการแพทย์ และการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน จึงทรงมีแนวพระดำริที่จะนำงานศิลปะที่ทรงรักมาต่อยอดเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน
“วิทยาศาสตร์เป็นส่วนประคับประคองประเทศในระหว่างที่ประเทศเดือดร้อน ศิลปะก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผสมผสานกันสองสาขา เพื่อนำมาสู่การช่วยเหลือราษฎรในยามที่ประชาชนลำบาก”
โดยโปรดให้จัดทำภาพพิมพ์จากภาพวาดฝีพระหัตถ์ออกจำหน่าย พร้อมทั้งนำลวดลายจากภาพมาต่อยอดจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์หลาก หลายชนิด เพื่อหารายได้นำไปช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้
และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงประชาชนที่ทุกข์ยากจากความเจ็บป่วย และประสบภัยพิบัติต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ผ่านการดำเนินงานจากมูลนิธิในพระดำริ ได้แก่ มูลนิธิจุฬาภรณ์ มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์และมูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่ง ในพระอุปถัมภ์ฯ
เนื่องในโอกาสอันเป็นศุภมงคลที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจะทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม นั้น ศ. ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นตัวอย่างการใช้เวลาที่ดีที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทย และทรงเป็นแบบอย่างให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ในเรื่องของการจัดสรรเวลา ทรงจัดสรรเวลาทำในสิ่งที่ทรงรักและมีความสุขได้ลงตัว เช่น การวาดภาพที่โปรด และการสานต่อ ความฝันของพระองค์ด้วยการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางด้านศิลปะ ทรงทำพระองค์ให้เป็น แบบอย่างแล้วว่า “การศึกษาเรียนรู้ สามารถทำได้ตลอดชีวิต” ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน....เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์และเจ้าฟ้าผู้ทรงสร้างสรรค์งานศิลปะ ของปวงชนชาวไทย