'สุพัฒนพงษ์' สั่งด่วนชะลอโครงการ 'รถเก่าแลกรถใหม่' จนกว่าจะได้ข้อสรุป

 'สุพัฒนพงษ์' สั่งด่วนชะลอโครงการ 'รถเก่าแลกรถใหม่' จนกว่าจะได้ข้อสรุป

ดับฝันรถเก่าแลกรถใหม่ 'สุพัฒนพงษ์' สั่งชะลอโครงการจนกว่าจะได้ข้อสรุป หวั่นกระทบตลาดรถยนต์ช่วงสั้น หารือรมว.คลังให้สร้างความชัดเจนให้ตลาด

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวถึงโครงการ "รถเก่าแลกรถใหม่" ว่าเป็นโครงการที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ แต่ยังต้องมีการหารือในรายละเอียดอีกมากและยังไม่ได้ข้อสรุปเร็วๆนี้อย่างแน่นอน เพราะมีทั้งเรื่องภาษีและเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับรถที่จะเข้าโครงการ

"เมื่อยังไม่ได้ข้อสรุปก็ต้องสร้างความชัดเจนว่าโครงการนี้ให้ชะลอและเลื่อนออกไปก่อน จะได้ไม่กระทบตลาด"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่นายสุพัฒนพงษ์กำลังให้สัมภาษณ์เรื่องโครงการรถเก่าแลกรถใหม่กับผู้สื่อข่าวนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โทรศัพท์เข้ามาหานายสุพัฒนพงษ์พอดีเพื่อหารือประเด็นเกี่ยวกับโครงการนี้พอดี 

ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์กล่าวย้ำกับนายอาคมว่าเมื่อยังไม่ได้ข้อสรุปก็ให้ยกเลิกไปก่อน 

สำหรับโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ ซึ่ง ศบศ.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติม

ทั้งนี้ข้อเสนอในเบื้องต้นที่ได้เห็นชอบตรงกันคือเรื่องของเงื่อนไขว่ารถใหม่ที่จะเข้าโครงการรถเก่าแลกรถใหม่จะต้องเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ และรถยนต์ที่เป็นรถไฟฟ้า (EV) เพื่อช่วยลดปริมาณมลพิษทางอากาศ และ PM2.5 ด้วย 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ที่เสนอให้ ศบศ.พิจารณา โดยคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน มีเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อให้ไทยเป็นเมืองสะอาด

รวมทั้งให้ไทยป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนและของโลก รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเป็น 50% ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) และ 85% ในปี 2578 (ค.ศ.2035) และ 100% ในปี 2583 (ค.ศ.2040) โดยกรุงเทพธุรกิจรายงานว่ามีแผนดำเนินงาน 7 ด้าน คือ

1.โครงการรถแลกแจกแถม (รถเก่าแลกรถใหม่ 100,000 คัน) ด้วยการนำรถอายุ 12 ปีขึ้นไป มาแลกซื้อรถใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ECO Car หรือ XEV ที่ครอบคลุมรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) 

ทั้งนี้ จะมีการจูงใจด้วยการเพิ่มมูลค่าให้รถเก่า 100,000 คัน (คันละไม่เกิน 100,000 บาท) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อรถใหม่ โดยมูลค่าที่เพิ่มเกิดจกการนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถใหม่ไปหักภาษีเงินได้ รวมไม่เกิน 100,000 บาทต่อคัน

2.โครงการจักยานยนต์ไฟฟ้าไทยชนะ ด้วยการสนับสนุนการผลิตและใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ระบบ SWAP ในประเทศ โดยมีเป้าหมายเพิ่มการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า 100,000 คัน/ปี ในกลุ่มจักรยานยนต์สาธารณะ (วินสะอาด) จักยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ (Green Delivery) และจักรยานยนต์ส่วนบุคคล โดยพัฒนาแตตอรี่ร่วมกันรูปแบบ SWAP เพื่อลดต้นทุนการผลิต 

รวมทั้งส่งเสริมกิจการให้บริการเช่าแบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุแบบ SWAP ซึ่งจะช่วยให้ราคาจักรยานยนต์ถูกลงกว่า 50% 

3.โครงการจัดหารถโดยสารเพื่อประชาชนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า (EV) 2,511 คัน จ่ายตามกิโลเมตรบริการที่วิ่งจริง และเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.เป็นการเช่า BUS EV 2,511 คัน จ่ายตามกิโลเมตรบริการที่วิ่งจริง 

รวมทั้งให้ดำเนินการเช่าจากผู้ผลิตในประเทศก่อน เพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศ ร่วมกับกำหนดกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญของ BUS EV ให้ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนใน Free-zone ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบ BUS EV 

4.โครงการส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยสนับสนุนให้หน่วยงานราชการเช่าหรือเช่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ทุกภาคส่วนในการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า โดยปรับปรุงคุณสมบัติในบัญชีราคามาตรฐนครุภัณฑ์ และกำหนดให้ส่วนราชการจัดพื้นที่สำหรับจอดรถยนต์ไฟฟ้า และสนับสนุนค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุ และกำหนดให้ราคากับความคุ้มค่าในการจัดซื้อหรือเช่ายานยนต์

5.โครงการสนับสนุนตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบให้รองรับการลงทุนสร้างสถนีอัดประจุไฟฟ้าและเร่งแผนวางโครงข่าย Smart Grid รองรับสร้างสถานีอัดประจุทุกระยะ 70 กิโลมตรให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้รถ BEV มากขึ้น รวมทั้งกำหนดค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัตรคงที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนสถานีอัดประจุแบบ DC ในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล

6.โครงการยกระดับอุตสหกรรมยานยนต์เปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในการปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์ตไฟและการบริหารจัดการชากแบตเตอรี่และรถยนต์ที่หมดอายุ

7.การบริหารจัดการเงินทุนเพื่อการกำจัดซากและส่งเสริมการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า โดยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าและยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) เสริมขีดความสามารถให้ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน BEV ของไทย ร่วมกับส่งเสริมการปรับตัวและยกระดับแรงงานและซัพพลายเชนของผู้ผลิตเครื่องยนต์ขับเคลื่อนแบบสันดาป (ICE) เดิมไปสู่การผลิตยานพาหนะไฟฟ้าและส่งเสริมการบริหารจัดการซากรถยนต์และการนำรถเก่าไปทำลาย 

ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและระบบราง (รถยนต์นั่ง  รถปิกอัพ จักรยานยนต์ รถบรรทุก) ครบวงจรตั้งแต่การผลิตไปถึงการบริหารจัดการซาก