ศบศ.อัดงบ 4.1 หมื่นล้านกระตุ้นบริโภค คนละครึ่งเฟส 2 เติมเงินบัตรสวัสดิการ
ศบศ.อนุมัติ 4.3 หมื่นล้าน กระตุ้นการบริโภคในประเทศต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปีหน้า “คนละครึ่ง” เฟส 2 เปิดเพิ่ม 5 ล้านราย รัฐร่วมจ่าย 3,500 บาท รวม 3 เดือน พร้อมเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการอีกเดือนละ 500 บาท
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบมาตรการเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ 2 โครงการวงเงินรวม 43,500 ล้านบาท โดยใช้เงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้แก่
1.มาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 วงเงิน 22,500 ล้านบาท โดยใช้เงินจากเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยมาตรการมีรูปแบบการดำเนินเช่นเดียวกับระยะแรกที่ภาครัฐจะร่วมจ่าย 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน มาตรการในระยะ 2 มีรายละเอียดเพิ่ม คือ จะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิเพิ่มเติมอีก 5 ล้านคน โดยจะได้รับวงเงินคนละ 3,500 บาท
ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกตัดสิทธิจากโครงการคนละครึ่ง ระยะที่หนึ่ง เนื่องจากไม่ได้ใช้จ่ายภายใต้โครงการภายในวันที่กำหนดไว้หลังจากที่ลงทะเบียนรับสิทธิไปแล้ว จะยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการระยะที่สองได้ มีกำหนดการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2564 และเพิ่มวงเงินผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่หนึ่ง อีกคนละ 500 บาท โดยจะขยายระยะเวลาการใช้สิทธิมาตรการระยะที่หนึ่งออกไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2564
รายงานข่าวระบุว่า กระทรวงการคลังเตรียมเปิดให้มีการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งเฟส 2 ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้
2.มาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเสนอโดยกระทรวงการคลัง โดยการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน วงเงินรวม 21,000 ล้านบาท จากเงินกู้ส่วนการเยียวยาเศรษฐกิจ โดยมีเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.2564
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ศบศ.เห็นชอบการปรับปรุงมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ได้แก่
1.ปรับปรุงการใช้สิทธิการจองห้องพักจากเดิมประชาชนจองที่พักได้ไม่เกิน 10 คืน (Room night) ต่อ 1 สิทธิ เพิ่มเป็น 15 คืนต่อ 1 สิทธิ
2.ขยายช่วงเวลาการจองจากเวลา 06.00–21.00 น.เป็นเวลา 06.00–24.00 น.
3.เพิ่มจำนวนห้องพักจากเดิม 5 ล้านคืน เป็น 6 ล้านคืน ทั้งนี้ จำนวนห้องที่เพิ่มมาจะสนับสนุนเฉพาะ E-voucher แต่ไม่อุดหนุนค่าที่พัก
4.ขยายเวลาใช้สิทธิถึง 30 เม.ย.2564
5.เพิ่มโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตแต่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้ร่วมโครงการได้ 6.อนุมัติให้ธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวใช้ระบบคูปองออนไลน์ได้ ประกอบด้วย ธุรกิจการขนส่งภาคท่องเที่ยว ธุรกิจสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ
7.ปรับปรุงเกณฑ์สนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินจากเดิมรัฐสนับสนุน 40% แต่สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อ 1 สิทธิ เป็นสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อ 1 สิทธิ เฉพาะการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดที่ภาคท่องเที่ยวพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และ เชียงราย
8.กำหนดหลักเกณฑ์การลาสำหรับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักร้อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อใช้สิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
ส่วนโครงการกำลังใจได้เห็นชอบปรับปรุงโครงการ โดยให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนร่วมโครงการได้ โดยบริษัทนำเที่ยวที่กรอกรายการนำเที่ยวไม่ครบ 15 รายการ สามารถกรอกเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ หากกรอกครบ 15 รายการแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก โดยมีเวลาเปิดให้สมัครภายใน 15 ธ.ค.2563
นอกจากนี้ ศบศ.เห็นชอบในหลักการโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ (ท่องเที่ยววัยเก๋า) โดยมีรายละเอียดคือ ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และจะต้องเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยวโดยมีระยะเวลาของโปรแกรมการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 3 วัน 2 คืน และเดินทางท่องเที่ยวได้เฉพาะวันธรรมดา (เข้าพักในวันอาทิตย์ถึงวันพฤหัสบดี) โดยมีราคาค่าใช้จ่ายต่อโปรแกรมไม่น้อยกว่า 12,500 บาทต่อคนต่อโปรแกรม และรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายผ่านบริษัทนำเที่ยวในลักษณะร่วมจ่ายคนละ 5,000 บาท
สำหรับบริษัทนำเที่ยวที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องจดทะเบียนดำเนินธุรกิจ ก่อนวันที่ 1 ม.ค.2563 ทั้งนี้ บริษัทนำเที่ยวแต่ละรายสามารถรับนักท่องเที่ยวผ่านโครงการได้ไม่เกิน 3,000 ราย โดยโครงการมีระยะเวลาการดำเนินการ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงวัยเข้าร่วมโครงการ 1 ล้านคน และรัฐจะอุดหนุนเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยใช้วงเงินตามโครงการเราเที่ยวด้วยกันตามที่ได้มีการของบประมาณไว้
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ศบศ.รับทราบความคืบหน้าแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเสนอโดยประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อสรุปแนวทางมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูที่สำคัญ ได้แก่ แนวทางการดำเนินการในระยะสั้นสำหรับการส่งเสริมตลาดในประเทศประกอบด้วย การส่งเสริม การท่องเที่ยวภายในประเทศของชาวไทย โดยประกาศให้ปี 2564-2565 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย
รวมถึงการดำเนินมาตรการที่สำคัญอื่น อาทิ การดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ให้ท่องเที่ยวในวันธรรมดามากขึ้น การกระตุ้นการท่องเที่ยวทางรถยนต์และรสบัส การจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และ การปรับปรุงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
รวมทั้งมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น ค่าสาธารณูปโภค หรือมาตรการอุดหนุนเพื่อรักษาระดับการจ้างงานแนวทางการดำเนินการในระยะสั้นสำหรับตลาดต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมการเร่งรัดมาตรการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทาง อาทิ การใช้ระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลในแบบกระบวนการครบวงจร หรือมุ่งเน้นผู้ใช้บริการเป็นหลัก โดยครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการขอวีซ่า หนังสือรับรองสถานภาพการเข้าไทยจนถึงระบบติดตามตัว และการแก้ไขปัญหาเส้นทางบินตรงจากต่างประเทศมาสู่ประเทศไทย