ค่าเงินบาทวันนี้ 22 พ.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ ‘อีซีบี‘ ลดดอกเบี้ย - ราคาทองปรับขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 22  พ.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ ‘อีซีบี‘ ลดดอกเบี้ย  - ราคาทองปรับขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 22 พ.ย. 67 เปิดตลาด “อ่อนค่า” ที่ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ ECB มีโอกาสเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง และราคาทองปรับขึ้น ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยช่วงตลาดกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.50-34.85 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้  ที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.66 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.85 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อยในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 34.61-34.77 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงราว 22.30 น. ตามเวลาประเทศไทย หนุนโดยแรงขายสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า ECB มีโอกาสที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้พอสมควร ขณะที่เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน

ค่าเงินบาทวันนี้ 22  พ.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ ‘อีซีบี‘ ลดดอกเบี้ย  - ราคาทองปรับขึ้น  

นอกจากนี้ สกุลเงินฝั่งยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งความกังวลดังกล่าว ประกอบกับความต้องการใช้พลังงานในช่วงฤดูหนาวก็มีส่วนหนุนให้ราคาแก๊สธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น และเป็นอีกปัจจัยที่กดดันสกุลเงินยุโรป 

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ยังคงปรับตัวขึ้นต่อบ้าง สู่โซน 2,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ในช่วงที่ตลาดกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ ความต้องการถือเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และถ้อยแถลงของผู้ว่าฯ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ย้ำว่า BOJ จะประเมินข้อมูลรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจากความผันผวนของค่าเงิน ในการดำเนินนโยบายการเงิน ได้ช่วยหนุนเงินเยนญี่ปุ่นและชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้บ้าง (อนึ่ง ในช่วงเช้าของวันนี้ เงินเยนญี่ปุ่นได้แข็งค่าขึ้นสู่โซน 154 เยนต่อดอลลาร์ หลังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของญี่ปุ่น อยู่ที่ระดับ 2.3% สูงกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคงมองว่า BOJ มีโอกาสราว 63% ที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้)   

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจกดดันให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ ทว่า เงินบาทอาจยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านดังกล่าวไปได้ไกลนัก ตราบใดที่ราคาทองคำยังสามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways อีกทั้ง เราเริ่มเห็นการทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่ยังคงได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ (ยกเว้นธนาคารกลางญี่ปุ่น) รวมถึงแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินเยนญี่ปุ่นเริ่มทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาทในช่วงนี้ 

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ โดยเฉพาะในส่วนของรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ โดยเรามองว่า ในกรณีที่ดัชนี PMI ของสหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาด ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง แต่อาจไม่มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้รับรู้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดที่อาจน้อยกว่า Dot Plot เดือนกันยายน ไปมากแล้ว แต่หากดัชนี PMI ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้พอสมควร โดยในกรณีดังกล่าว อาจเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น สะท้อนผ่านการปรับตัวขึ้นของหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหุ้นธีม AI/Semiconductor ที่ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของ Nvidia +0.5% ที่แม้จะโตชะลอลง แต่ก็ยังมีแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการที่ดีอยู่ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันจากแรงขาย Alphabet -4.7% หลังกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ต้องการให้ Google ยุติการผูดขาดธุรกิจค้นหาออนไลน์ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นเพียง +0.03% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.53% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.41% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ธีม AI/Semiconductor อย่าง ASML +2.4% ที่ได้อานิสงส์จากความหวังต่อแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการของ Nvidia นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธุรกิจอาวุธสงคราม  ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน 

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 4.40% แม้ว่าจะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ทว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ถูกจำกัดโดย ทั้งแรงซื้อ Buy on Dip รวมถึงความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว (เน้น Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือครองบอนด์ระยะยาวยังมีความน่าสนใจ เมื่อประเมินจากผลตอบแทนรวม (Total Return) โดยเฉพาะในกรณีที่ บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวขึ้นหรือลง +/-50bps ซึ่งน้อยกว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เพื่อถึงจุด Break-Even 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดคงเชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ได้มากกว่า เฟด ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD และการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 107 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.4-107.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงร้อนแรงอยู่นั้น ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,690-2,700 ดอลลาร์ 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนพฤศจิกายนของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะทยอยรับรู้จากฝั่งญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ ไปจนถึงสหรัฐฯ โดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวอาจสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และอาจมีผลต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักได้ นอกจากนี้ ในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคม ด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก พร้อมทั้งติดตาม สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงร้อนแรงอยู่ในช่วงนี้