'ทิพานัน' จี้ 'ธนาธร' ตอบปมน้องชายเอี่ยวติดสินบน 500 ล้าน โยงที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ
"ทิพานัน" จี้ "ธนาธร" ตอบปมน้องชายมีเอี่ยวติดสินบน 500 ล้าน แลกไม่ประมูลที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ ตามขั้นตอนปกติ ซัด อย่าสองมาตรฐานกับเครือญาติและความผิดของตนเอง
วันที่ 6 ธ.ค. 63 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีคำพิพากษาคดีอาญา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำที่ อท 76/2562, คดีหมายเลขแดงที่ อท 228/2562 ที่มีข้อเท็จจริงในคดีเกี่ยวข้องกับนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ระหว่างกลางเดือนมีนาคม 2560 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2560 ตกลงจ่ายค่าดำเนินการติดต่อประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่จำเลยทั้งสองจำนวน 500,000,000 บาท เพื่อให้ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้สิทธิการเช่าที่ดินแปลงบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และได้จ่ายไปแล้วบางส่วนจำนวน 20,000,000 บาทเพื่อเป็นการตอบแทนที่จำเลยจะร่วมกันไปดำเนินการติดต่อประสานงานและนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อจูงใจให้จัดสรรที่ดินบริเวณดังกล่าวให้บริษัท เรียลแอสเสทฯ ได้สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาว โดยไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติของการขอเช่าที่ดินนั้น
สังคมมีข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว จึงขอให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทเรียลแอสเสทฯ ในขณะเกิดเหตุนั้น ตอบคำถามที่ประชาชนสงสัยดังนี้
1. ในช่วงเกิดเหตุ นายธนาธร ซึ่งเป็น 1 ในผู้ถือหุ้นของบริษัท ทราบหรือรู้เห็นเป็นใจมากน้อยเพียงใดถึงการกระทำและเจตนาของนายสกุลธร กับการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้บริษัทฯ ชนะการประมูล ซึ่งเมื่อนายธนาธรที่มักชอบการตรวจสอบทุจริต เรียกร้องความโปร่งใสอยู่เป็นประจำ ทราบเหตุแล้วทำไมไม่ใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 ที่บัญญัติว่า “ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้น ขึ้นว่าก็ได้” หรือว่านายธนาธรละเว้นการตรวจสอบทุจริตเพื่อความโปร่งใสเพราะเป็นการกระทำของเครือญาติของตนเองใช่หรือไม่
2. ในช่วงเกิดเหตุ กรรมการบริษัทเรียลแอสเสทมีผู้ใดบ้าง หากนายสกุลธรกระทำในฐานะกรรมการบริษัท นายธนาธรซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นก็ต้องร่วมรับผิดด้วยตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1144 บัญญัติว่า “บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง” และมาตรา 1167 ที่บัญญัติว่า”ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยตัวแทน” น.ส. ทิพานัน กล่าว
น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า นายธนาธรไม่ควรทำตัวสองมาตรฐานเสียเอง ทั้งเรื่องการเรียกร้องปลดแอกและความไม่เท่าเทียม เหลื่อมล้ำ ต่อต้านระบบนายทุนและการคอร์รัปชัน สิ่งเหล่านี้พอเกิดกับคนในตระกูล เครือญาติ พรรคพวกพี่น้อง และอาจเป็นความผิดของตนเอง กลับมีพฤติกรรมไปในทางหลับตาไม่ตรวจสอบ ไม่เอาความจริงมาทำให้ปรากฏแก่สังคม และมันย้อนแย้งที่บุคคลอย่างนายธนาธรที่วิจารณ์ได้ทุกเรื่อง กลับปฏิเสธการตอบคำถามจากสังคมและนักข่าวที่ขอสัมภาษณ์
"จากกรณีดังกล่าวก็ยิ่งทำให้สังคมวิจารณ์ว่าที่ผ่านมานายธนาธรมักเอาประเด็นความผิดพลาดส่วนตัวมาปลุกระดมการเคลื่อนไหวสังคม กล่าวโทษว่าเป็นเพราะผู้อื่น เช่น กรณีนี้เมื่อน้องชายและบริษัทที่ตนเองเคยถือหุ้นเป็นเจ้าของมีปัญหาเรื่องพยายามจ่ายเงินผิดกฎหมายแก่สำนักทรัพย์สินฯ นายธนาธรก็ออกมาเรียกร้องขอตรวจสอบงบฯ และการจัดการบริหารของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือตอนที่นายธนาธรถูกตัดสิทธิ์การเป็น ส.ส. เพราะไม่โอนหุ้นสื่อ บ.วีลัค ให้ทันเวลา รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบเพราะนายธนาธรให้กู้เงินผิดกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง นายธนาธรก็ออกมาเรียกร้องกล่าวโทษว่าเป็นความผิดที่ระบบ ถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ปลุกระดมสังคมให้เคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนตัวของนายธนาธรเองใช่หรือไม่" น.ส. ทิพานัน กล่าว