'พ็อคเก็ต พาร์ค' สวนสาธารณะฉบับกระเป๋าแห่งแรก ใจกลางคลองเตย
สจล. ส่งมอบ “พ็อคเก็ต พาร์ค” เปลี่ยนพื้นที่รกร้าง เป็นสวนสาธารณะฉบับกระเป๋าแห่งแรก ใจกลางชุมชนคลองเตย ล็อค 1-2-3 เพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ พักผ่อนหย่อนใจ ขนาด 72 ตร.ม. เตรียมขยายผลการพ็อคเก็ต พาร์ค สู่ชุมชนต่าง ๆ ยกระดับชีวิตคนกทม.
สภาวิศวกร พร้อมหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ วิศวกรอาสา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) ส่งมอบ“พ็อคเก็ต พาร์ค” สวนสาธารณะฉบับกระเป๋าแห่งแรก ใจกลางชุมชนคลองเตย ล็อค 1-2-3 ภายใต้โครงการ “สภาวิศวกรปันสุขให้ชุมชน” พื้นที่ที่คนทุกช่วงวัยสามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งวัน ทั้งในรูปแบบของการเป็นแหล่งเรียนรู้ หรือพักผ่อนหย่อนใจ ในขนาด 72 ตร.ม. ที่มีโครงสร้างสูงโปร่ง มีแสงส่องสว่างทั่วถึง มีระบบระบายน้ำที่ดี มีบอร์ดไม้สำหรับติดป้ายประกาศหรือความรู้ต่าง ๆ และไม้ยืนต้นโดยรอบพื้นที่ที่ช่วยสร้างร่มเงา กลิ่นหอม และไล่ยุง ทั้งนี้ ในอนาคตเตรียมขยายผลการติดตั้ง “พ็อคเก็ต พาร์ค” สู่ชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ หนุนยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ให้ดียิ่งขึ้น รับ 20 ปี สภาวิศวกร
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า ภายหลังที่สภาวิศวกร ได้นำทีมวิศวกรอาสา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) และเขตคลองเตย เดินหน้าปรับภูมิทัศน์ภายในชุมชนคลองเตย ให้มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ ปลอดภัย และใช้ประโยชน์จากการ ‘เปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้าง’ เป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยแนวคิด “เปลี่ยน-แปลง” ภายใต้โครงการ “สภาวิศวกรปันสุขให้ชุมชน” สู่การวางแปลนจัดสร้าง “พ็อคเก็ต พาร์ค” (Pocket Park) สวนสาธารณะฉบับกระเป๋าแห่งแรก ใจกลางชุมชนคลองเตย ล็อค 1-2-3 พื้นที่ที่คนทุกช่วงวัยสามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งวัน ทั้งในรูปแบบของการเป็นแหล่งเรียนรู้ หรือพักผ่อนหย่อนใจ โดยที่ล่าสุด สภาวิศวกร ได้ดำเนินการส่งมอบ “พ็อคเก็ต พาร์ค” แก่ชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีนายประเทืองวิทย์ ดีใจ ผู้ช่วยอำนวยการเขตคลองเตย เป็นผู้รับมอบ
"สำหรับสวนสาธารณะดังกล่าว ถือเป็นนวัตกรรมเมืองที่มีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชน ที่ได้สร้างความท้าทายทีมออกแบบ ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ในขนาด 6 x 12 เมตร หรือ 72 ตารางเมตร แต่เน้นคุณภาพครบทุกกระบวนการ จึงนำไปสู่การออกแบบสวนสาธารณะ ที่มีโครงสร้างสูงโปร่ง มีแสงส่องสว่างทั่วถึง มีระบบระบายน้ำที่ดี มีบอร์ดไม้สำหรับติดป้ายประกาศหรือความรู้ต่าง ๆ รวมถึงการปลูกไม้ยืนต้นโดยรอบพื้นที่ อาทิ ต้นเตย ต้นโมก ต้นตะไคร้ ที่นอกจากจะสร้างร่มเงาและกลิ่นที่หอมสะอาดแล้ว ยังช่วยไล่ยุงและป้องกันการเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอันเป็นภาหะนำโรคอีกด้วย ทั้งนี้ งบประมาณในการออกแบบและจัดสร้างอยู่ที่ 250,000 บาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ สจล."
"ในอนาคตอันใกล้นี้ สภาวิศวกร เตรียมจับมือ สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล. นำต้นแบบแปลนก่อสร้าง พ็อคเก็ต พาร์ค ขนาด 6 x 12 เมตร ขยายจุดติดตั้งไปยังชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้โครงการ “20 ปี สภาวิศวกรปันสุขให้ชุมชน” เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ให้ดียิ่งขึ้น โดยชุมชนใดที่สนใจต้นแบบดังกล่าว สามารถติดต่อขอข้อมูล/แบบแปลนได้ที่ สายด่วนสภาวิศวกร 1303 หรือไลน์ไอดี @coethai อย่างไรก็ดี คนไทยทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการ “เปลี่ยน-แปลง” พื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สาธารณะได้ที่ เลขที่บัญชี 140-270-922-2 ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี สภาวิศวกร" ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย