เปิดบทวิเคราะห์ จาก 'Libra' สู่ 'Diem'

เปิดบทวิเคราะห์ จาก 'Libra' สู่ 'Diem'

การปรับตัวครั้งใหม่ของ Facebook หลังจากออกสกุลเงินดิจิทัล "Libra" มาได้ไม่นาน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นชื่อ "Diem" เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของประเทศต่างๆ ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างจากเดิมหรือไม่? อย่างไร?

หลังจากการเปิดตัวของ Libra หรือสกุลเงินดิจิทัลของ Facebook (Fb) เมื่อกลางปี 2562 นับจากนั้น Fb ก็ต้องเผชิญหลายเหตุการณ์สำคัญ จนกระทั่งได้ปรับรูปแบบการออกเหรียญ Libra Version 2.0 เมื่อต้นปี 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์การกำกับดูแลของ Regulator ในประเทศต่างๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง 

ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การปรับจากเวอร์ชั่น 2 เป็นเวอร์ชั่น 3 แต่ Libra ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Diem ซึ่งมาจากภาษาละตินที่แปลว่า Day และกระเป๋าเงินดิจิทัลของ Fb ที่ครั้งหนึ่งเคยชื่อ Calibra ได้เปลี่ยนเป็น Novi ที่แปลว่า “ใหม่” หรืออาจกล่าวได้ว่านี่คือ “การเริ่มต้นวันใหม่” ของ Fb

  • ก่อนจะเป็น Diem : จาก Libra 1.0 ถึง 2.0

นับจากการเปิดตัวของ Libra สิ่งที่ Fb ให้ความสำคัญมากประการหนึ่งคือ “Regulators ทั่วโลกจะให้การยอมรับ Libra มากน้อยเพียงใด” ซึ่งนั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีมงาน Fb เดินสายเข้าพบ Regulators ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจและปรึกษาประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้ในการสร้างสกุลเงิน Libra

อย่างไรก็ดี ผลตอบรับที่ได้เหมือนจะไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไรนัก ดังนั้น ในเวลาต่อมา Libra 1.0 จึงถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบให้กลายเป็น Libra 2.0 ซึ่งในเวอร์ชั่นนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบจากการที่ Fb จะเป็นผู้ออกเหรียญเอง เป็นการสร้างแพลตฟอร์มที่เชิญชวนให้ธนาคารกลางทั่วโลกเข้ามาพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลบนแพลตฟอร์มของ Libra หรือพูดง่ายๆ ว่า Fb กำลังเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ออกเหรียญ เป็นผู้สร้างระบบที่ให้ธนาคารกลางต่างๆ มาลงโปรแกรมเงินดิจิทัลของตนบน Libra platform

  • รูปแบบที่แตกต่าง : จาก Libra 2.0 ถึง Diem

Libra 2.0 : เมื่อข้อเสนอในการสร้าง Libra 1.0 ที่ Fb ต้องการให้มูลค่าของ Libra อ้างอิงกับ Basket of Currencies หลายสกุลหรือเท่ากับว่าจะผูกมูลค่าของเหรียญ Libra เข้ากับเงิน fiat สกุลต่างๆ ไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบที่มีอยู่เท่าไรนัก จึงเป็นที่มาของการปรับรูปแบบของ Libra 2.0 ที่ได้กำหนดให้สร้างเหรียญเกิดขึ้นใน 2 รูปแบบ 

รูปแบบแรกคือ การสร้าง Single-currency stablecoins ซึ่งมีหลักการในการตั้งสำรองแบบ 1:1 แต่ต่างกันที่ในระยะแรก Libra ได้กำหนดสกุลเงินที่สามารถเข้าร่วมพัฒนาบนระบบไว้เพียง 4 สกุล ได้แก่ USD, EUR, GBP และ SGD ดังนั้น หากมีการออก LibraGBP จำนวน 1 ล้าน LibraGBP ก็ต้องตั้งสำรองไว้ 1 ล้าน GBP และเก็บไว้ในบัญชีธนาคารที่ Libra กำหนด

รูปแบบที่สองคือ การสร้าง Global Libra โดยมูลค่าสินทรัพย์ที่หนุนหลัง คือมูลค่าของทุกเหรียญที่รวมกันอยู่ใน Single-currency stablecoins ซึ่งจะคำนวณแบบค่าเฉลี่ยของทุกสกุล (คล้ายกับสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ที่กำหนดโดยไอเอ็มเอฟ) โดยวัตถุประสงค์ในการสร้างเหรียญประเภทนี้เพื่อใช้เป็นช่องทางการชำระเงินระหว่างประเทศ

Diem : การออกเหรียญที่ยังคงเป็นรูปแบบ Stablecoin แต่จะอ้างอิงกับสกุลเงินเพียงสกุลเดียว (Single-Currency Stablecoin) แทนที่จะใช้ระบบ Multi-Currency Coin อย่างเช่น Libra ในเวอร์ชั่นก่อน โดย Single-Currency Stablecoin จะมีสินทรัพย์ของสกุลเงินนั้นๆ หนุนหลังเต็มจำนวน (ไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลแบบระยะสั้น) นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ Diem ยังมีโครงการที่จะปรับปรุงรูปแบบให้สอดคล้องกับเกณฑ์ในเรื่องการฟอกเงิน และกฎระเบียบต่างๆ ว่าด้วยการป้องกันการก่อการร้าย

  • Blockchain ยังคงเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน

แม้โครงการจะเปลี่ยนชื่อและรูปแบบ แต่ Fb ก็ยังคงใช้ “บล็อกเชน” (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการจัดเก็บข้อมูลการทำธุรกรรมของ Diem ดังนั้น หากอ้างอิงจากเอกสาร Whitepaper ของ Diem อาจกล่าวได้ว่า Fb ยังคงเลือกใช้ระบบ Permissionless system หรือบล็อกเชนแบบที่อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถที่จะร่วมบันทึกข้อมูลประวัติการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลงไปได้ ซึ่งระบบจะจัดทำการเก็บสำเนาประวัติธุรกรรมต่างๆ (Ledger) ไว้

Fb ได้ระบุว่าระบบดังกล่าวคือระบบการทำธุรกรรมในอนาคตและจะเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ เพราะจะเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ร่วมอยู่ในระบบสามารถตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมได้ (Verify Transaction)

  • อนาคตของ Diem

สำหรับผู้เขียนนี่คือการ Scale down ของโครงการ Libra ซึ่งเป็นการลดเป้าจากความมุ่งหวังในการสร้าง Global digital currency ที่ต้องการให้รัฐบาลทั่วโลกยอมรับให้ libra เป็นสกุลเงินมาตรฐาน (Global Standard currency) อีกสกุลหนึ่ง เป็นเพียงการสร้างระบบชำระเงินและสื่อกลางในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ช่วยให้การโอนเงินข้ามประเทศเป็นเรื่องที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น มากกว่าการสร้างสกุลเงินดิจิทัลที่แท้จริง

ดังนั้น ในทางปฏิบัติ Fb จึงได้ลดขนาดโครงการลงโดยเปลี่ยนรูปแบบเป็นเพียงสกุลเงินที่ผูกติดกับสกุลเงินเพียงสกุลเดียว (Single-Currency Stablecoin) ซึ่งหากตั้งสมมติฐานว่า Diem ผูกติดกับดอลลาร์ก็ต้องอย่าลืมว่าตลาด Us dollar-based Stablecoin ในสหรัฐยังมีคู่แข่งอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในตลาดอยู่เดิม เช่น Tether (USDT), Celo Dollar (CUSD) และ USD Coin ที่นักลงทุนมักนิยมใช้เก็บมูลค่าของเงินในการเทรดคริปโทสกุลต่างๆ โดยบริษัทเหล่านี้มักจัดตั้งในรูปแบบ Association เช่นกัน และดึงดูดหลายบริษัทที่เคยร่วมจัดตั้ง Libra Association กับ Fb ด้วย

อย่างไรก็ดี จุดแข็งของ Fb ก็เป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม ซึ่งแม้ USD stablecoin เจ้าต่างๆ จะอยู่ในตลาดมาก่อน แต่หากพิจารณาจากผู้ใช้บริการ Fb ซึ่งมีจำนวนราว 2 พันล้านบัญชีทั่วโลก ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญหาก Fb สามารถโน้มน้าวให้ผู้ใช้บริการเหล่านั้นมาใช้ Diem ได้สำเร็จ

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของความสมดุลใหม่ ที่คริปโทสกุลต่างๆ พยายามปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของประเทศต่างๆ ซึ่งเหตุแห่งการปรับตัวเป็น Diem ก็อาจด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาเพื่อพัฒนา CBDC เป็นของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนจะขอวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวในคราวต่อไป

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)