รับมือความท้าทาย เพื่อพิชิต S-curve ด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์
ประเทศไทยจะสามารถพิชิต S-curve ทางด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ได้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปรับเปลี่ยนแนวคิด นโยบาย และการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญ
ประเด็นดังกล่าวนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยและได้ข้อสรุปบนเวทีสนทนาเรื่อง “การพิชิต S-Curve: เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่มูลค่าโลก” ที่จัดโดย สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ พรีม่า องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีสมาชิกสมาคมที่ล้วนเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนายาใหม่ ๆ เพื่อต่อสู้กับโรคร้ายที่ยังไม่สามารถรักษาได้ หรือเพื่อให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นไป เวทีสนทนานี้เป็นส่วนหนึ่งในงานประชุมด้านชีววิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิค 2020 (Bio Asia Pacific 2020) ที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ผู้เข้าร่วมการสนทนาเพื่อหาคำตอบว่า ประเทศไทยจะพิชิต S-curve และมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่มูลค่าโลกของอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ ดร.พนิต กิจสุบรรณ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานเทคโนโลยี บริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, ศ.ดร.นพ.ฉัตรชัย เหมือนประสาท ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาและวิจัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นพ. ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.พนิต กิจสุบรรณ แห่งบริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ตลาดยาทั่วโลกมีมูลค่ารวม 7.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 ในจำนวนดังกล่าวเป็นยาชีวเภสัชภัณฑ์มูลค่า 1.86 แสนล้านดอลล่าร์ โดยในห่วงโซ่มูลค่านี้ยอดขายในประเทศไทยมี 5.8 พันล้านดอลล่าร์ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงยาที่มาจากการนำเข้า 2.2 พันล้านดอลล่าร์ด้วย จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรม Life Science ในประเทศไทยมีมูลค่าเพียงร้อยละ 0.5 ของ GDP (Gross Domestic Product หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) เมื่อเทียบกับร้อยละ 3-7 ในยุโรป
ดร.พนิต มองเห็นโอกาสการเติบโตอย่างมากของธุรกิจนี้ในประเทศไทย ถ้ามีระบบนิเวศในการทำงานที่ดีสำหรับนักวิจัยไบโอเทคของไทยที่ปัจจุบันทำงานอยู่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกและสำหรับผู้ผลิตยาในประเทศ “ยาชีวเภสัชภัณฑ์มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่ายาที่มาจากการสังเคราะห์สารเคมี โดยอัตราการขยายตัวต่อปีโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 15 เทียบกับร้อยละ 5 ตรงนี้น่าจะช่วยทำให้ GDP เราโตขึ้นได้”
ดร.พนิต เน้นว่าประเทศไทยต้องการคนทำนโยบายที่มุมมองของโลกกว้างและไม่ปล่อยให้สถานการณ์ในปัจจุบันมาถ่วงอนาคต “มีบริษัทสตาร์ทอัพด้านไบโอเทคเกิดขึ้นมากมาย แต่ระบบนิเวศไม่เอื้อต่อการเติบโต ดังนั้นผู้ออกนโยบายจะต้องมองเห็นภาพรวมทั้งหมดและเข้าใจในบริบทของอุตสาหกรรม Life Science เพื่อที่จะได้ออกนโยบายที่เหมาะสม เราต้องรู้ว่าอะไรที่ประเทศไทยไม่มีและต้องปิดจุดบอดต่างๆ เมื่อไรที่เรามีในจุดนี้ เราก็จะสามารถพิชิต S-curve นี้ได้ในที่สุด”
ด้าน ศ.ดร.นพ.ฉัตรชัย เหมือนประสาท เป็นหนึ่งในนักวิจัยด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ โดยกำลังทำการวิจัยค้นหายาเพื่อรักษาโรคท้องร่วงแบบ secretory diarrheas [เกิดจากการติดเชื้อโดยเชื้อโรคหรือท็อกซินของเชื้อโรค] เขากล่าวว่าประเทศไทยได้พิชิต S-curve อันแรกมาแล้วด้วยการค้นพบและพัฒนายาสำหรับสัตว์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่มีบริษัทไทยจำนวนน้อยมากที่กำลังค้นหายาเพื่อรักษามนุษย์ตั้งแต่กระบวนการแรก
“ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นข้อได้เปรียบอันหนึ่ง มันคือคลังสารเคมีพิเศษสำหรับการพัฒนายาโดยเฉพาะสารประกอบจากธรรมชาติที่ยากต่อการสังเคราะห์ เราได้ค้นพบสารธรรมชาติหลายตัวที่สามารถพัฒนาให้เป็นยาได้ นอกจากนี้ยังวิจัยยังมีบทบาทสำคัญในการค้นคว้าวิจัยหาเป้าหมายของวิธีการรักษาใหม่ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลทางคลินิกและชิ้นเนื้อหรือสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วย ตลอดจนเครื่องมือในการวิเคราะห์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนายา ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการค้นหาเป้าหมายของยา การตรวจสอบ การหาตัวยาใหม่ ๆ การทำการศึกษาในสัตว์ทดลอง การพัฒนาตำรับยา การทดลองในมนุษย์และทำการตลาด”
ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม กล่าวว่าการศึกษาเมื่อ 5 ปีที่แล้วชี้ว่า ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมยาชีวเภสัชภัณฑ์ของประเทศไทย ผู้เล่นทั้งที่เป็นบริษัทไทยและต่างชาติมีความเข้มแข็งมากในด้านการทดลองทางคลินิกและการรับทำวิจัยตามสัญญา (Contract Research Organization หรือ CRO) ที่เงินทุก ๆ บาทที่ลงไปจะสร้างผลตอบแทนได้ 2.9 บาท อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังอยู่ในขั้นแรกด้านการพัฒนายา การรับวิจัยทดลองในสัตว์ และการผลิตตามสัญญา (Contract Manufacturing Organization หรือ CMO) เขาชี้ว่าประเทศไทยต้องมีระบบนิเวศสำหรับ CRO และCMO และทำได้ด้วยการดึงนักวิจัยจากต่างประเทศเข้ามาและสนับสนุนให้ผู้ผลิตยาหันมาผลิตยาที่ไม่ใช่ยาสามัญทั่วไป
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวเสริมว่า ในการพิชิต S-curve ประเทศไทยมีความท้าทายอยู่ 2 อย่าง นั่นคือ ไม่มีเป้าหมายหรือความกระหายเหมือนที่เกาหลีใต้มี ซึ่งเกาหลีใต้ได้ตั้งเป้าหมายที่จะยิ่งใหญ่ในด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร วัฒนธรรม K-Pop และตอนนี้คือด้านยา อีกประการหนึ่งคือบริษัทในไทยมองข้ามโอกาสและทุ่มไปกับการขายยามากกว่าการผลิตยา
“เราไม่มีเป้าหมายทั้งในระดับนโยบายและระดับองค์กร ถ้าเรามีในส่วนนี้ ในอีก 10 ปี เราจะเป็น 1 ใน 10 ผู้ผลิตยาในห่วงโซ่มูลค่าโลก”
การจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพเป็นอีกอย่างที่ประเทศไทยต้องเน้น นั่นคือต้องกระตุ้นให้นักวิจัยขอการคุ้มครองสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาที่ทั่วโลกยอมรับ ไม่ใช่แค่การยอมรับภายในประเทศที่ไม่มีความหมายอะไร เพื่อการนี้บริษัทกฎหมายต้องทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัยในการรับคำขอและออกใบอนุญาตในการวิจัยและพัฒนา เช่นเดียวกับที่ทำอยู่ในต่างประเทศ
ศ.นพ.เกียรติ ย้ำว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีนโยบายที่ถูกทางเพราะตอนนี้งบในการวิจัยด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ยังต่ำ “ถ้าเรื่องเหล่านี้พัฒนาไปพร้อม ๆ กัน เราก็จะแข็งแรงขึ้นและจะมีระบบนิเวศที่ดี” เพราะจำนวนนักลงทุนและพันธมิตรทั้งที่เป็นภายในประเทศและต่างประเทศมีมากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางบริษัทที่ไม่ได้รอให้ระบบนิเวศเกิด KinGen Biotech เป็นตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือของภาคเอกชนในการสร้างระบบนิเวศขึ้นมาเอง KinGen Biotech คือธุรกิจร่วมของบริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนลและบริษัท Genexine จากประเทศเกาหลี ซึ่งในปัจจุบันเป็น one-stop service ให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว คือทั้งดำเนินการพัฒนาและรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ (Contract Development and Manufacturing Organization หรือ CDMO) สำหรับบริษัทในประเทศไทยและอาเซียน โดย ดร.พนิต เล่าว่า KinGen เป็นผู้บริหารโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ซึ่งเป็นโรงงานแห่งชาติของประเทศไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตยา และเป็น CDMO แห่งชาติอันแรกสำหรับการผลิตยาที่มาจากงานวิจัย
ดร.พนิต เน้นว่าประเทศไทยต้องการคนทำนโยบายที่มุมมองของโลกกว้างและไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ในปัจจุบันมาถ่วงอนาคต “มีบริษัทสตาร์ทอัพด้านไบโอเทคเกิดขึ้นมากมาย แต่ระบบนิเวศไม่เอื้อต่อการเติบโต ซึ่งจะต้องมองเห็นภาพรวมทั้งหมดและเข้าใจ เพื่อที่จะได้ออกนโยบาย เราต้องรู้ว่าอะไรที่ประเทศไทยไม่มีและต้องแก้ไข เมื่อไรที่เรามีในจุดนี้ เราก็จะสามารถพิชิต S-curve นี้ได้ในที่สุด”