นักดาราศาสตร์ชวนชม 'ฝนดาวตกเจมินิดส์' มากสุด 150 ดวงต่อชั่วโมง
นักดาราศาสตร์ชวนชม "ฝนดาวตกเจมินิดส์" มากสุด 150 ดวงต่อชั่วโมง คืนวันที่ 13 –14 ธ.ค.นี้!!
เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ 11 ธ.ค.63 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรี รายงานว่า ได้รับแจ้งจากนายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิตย์ ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านดาราศาสตร์ไทยและที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในคืนวันที่ 13 ต่อ 14 ธ.ค.63 นี้ จะมีปรากฏการณ์ด้านดาราศาสตร์ เรียกว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ สามารถชมได้ทั่วทุกภาค ในประเทศไทย
ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดขึ้นจากการที่โลกเราโคจรฝ่าเข้าไปในกลุ่มเศษสายธารอุกาบาตร ที่ดาวเคราะห์น้อย 3002 เฟทรอนทิ้งเศษซากไว้ เชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวโคจรรอบระบบสุริยะ ได้ทิ้งเศษซากเอาไว้ เมื่อโลกโคจรเข้าไปได้เสียดสีกับชั้นบรรยากาศเกิดฝนดาวตกดังกล่าวมองเห็นเป็นสีต่าง ๆ
อัตราการเกิดฝนดาวตก หรือพีคสูงสุด คาดว่ามีมากกว่า 80 -150 ดวงต่อชั่วโมง ชมได้หลัง 21.00 น. เป็นต้นไป เกิดปรากฏการณ์สูงสุดหลังเที่ยงคืน มีลักษณะพิเศษคล้ายหยดน้ำ หลากสี สีเขียว สีเหลือง ม่วง ฟ้า พุ่งมาจากกลุ่มดาวคนคู่ การชมนอนราบหนุนหมอนนอนรอชมหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ขอเชิญชวนทุกท่านมากางเต้นท์รับลมหนาวนอน ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฉะเชิงเทรา หอดูดาวภูมิภาคชาวภาคตะวันออกใกล้กรุงเทพฯที่สุด รอชมปรากฏการณ์ได้ตลอดทั้งทั้งคืน ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ 17.00 น. จรด 05.00 น. ช่วงหัวค่ำชมดาวเคราะห์ผ่านกล้องดูดาว ได้ดาวเสาร์,ดาวพฤหัสบดี ที่เริ่มเข้าใกล้กันมาทุกขณะ”นายวรวิทย์กล่าวในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ได้รับแจ้งจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชวนจับตา 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญส่งท้ายปี “ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืน 13 ถึงรุ่งเช้า 14 ธ.ค. 63 คาดมีอัตราการตกเฉลี่ยมากถึง 150 ดวงต่อชม.
ปีนี้โอกาสดี ไม่มีดวงจันทร์รบกวน แนะชมในที่มืดสนิท และ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี” 20 - 23 ธ.ค. 63 ปรากฏใกล้กันมากเสมือนเป็นดวงเดียว สังเกตด้วยตาเปล่าได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เผยว่า เดือนธันวาคม 2563 นี้ มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญที่น่าติดตาม 2 ปรากฏการณ์ด้วยกัน ปรากฏการณ์แรก ได้แก่ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เวลาประมาณ 20:30 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ ในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง และไม่มีแสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง คือ ปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดี” เคียง “ดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี หรือเรียกว่า ปรากฏการณ์ “The Great Conjunction 2020” จะเกิดในช่วงวันที่ 20 - 23 ธันวาคม 2563 ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าห่างเพียง 0.1 องศาเท่านั้น หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเสมือนเป็นจุดสว่างเพียงจุดเดียว และหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน สังเกตได้ในช่วงค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวเเพะทะเล ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในทุก 20 ปี แต่ครั้งนี้นับว่าเข้าใกล้ที่สุดในรอบกว่า 397 ปี หากพลาดโอกาสชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ ต้องรออีก 60 ปีข้างหน้า ดาวเคราะห์ทั้งสองจึงจะเข้ามาใกล้กันในระยะห่าง 0.1 องศาแบบนี้อีกครั้ง
สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืนวันที่ 13 - รุ่งเช้า 14 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 17:00 - 05:00 น. ได้แก่ เชียงใหม่ : สดร. ร่วมกับเทศบาลตำบลออนใต้จัดกิจกรรม “โต้ลม ห่มหนาว นอนนับดาว ฝนดาวตกเจมินิดส์” ณ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353 (ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้าและข้อมูลเพิ่มเติม https://darksky.narit.or.th/darkskyreserve/communities/huailan/ ) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา โทร. 044-216254 และ ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา โทร. 038-589395 ส่วนสงขลาไม่สามารถจัดกิจกรรมได้เนื่องจากเป็นช่วงฤดูมรสุม
สำหรับปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี “The Great Conjunction 2020” จัดวันที่ 19 - 23 ธันวาคม 2563 เวลา 18:00 - 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353 นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา โทร. 044-216254 ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา โทร. 038-589395 และ สงขลา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา โทร. 095-1450411 นอกจากนี้ ยังรวมกับโรงเรียนเครือข่ายดาราศาสตร์ที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ ในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์อีก 460 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบรายละเอียดได้ทาง http://bit.ly/MemberList-NARIT-DobsonianTelescope2020 ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมสังเกตการณ์ 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ดังกล่าว ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ