'คิกออฟ' จัดทำแผนพลังงานชาติ ปี 65-70 เสร็จเม.ย.ปี64
“พลังงาน” คิกออฟ จัดทำแผนพลังงานชาติปี 2565-2570 เสร็จ เม.ย.ปีหน้า ก่อนชง ครม.ไฟเขียว เล็งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน แตะ 35% ในปี2573 ตามอาเซียน เผยไม่เพิ่มผลิตไฟฟ้าถ่านหิน จ่อปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบเร็วขึ้น
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมระดมสมอง (เวิร์คช็อป) จากคนรุ่นใหม่ทั้งในส่วนของกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) บริษัท ปตท.จำกัดมหาชน หรือ PTT และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า การจัดประชุมฯครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้น(คิกออฟ) การจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว หรือ Thail Integrated Energy Blueprint (TEIB) ที่มีเป้าหมายระยะสั้น 5 ปี (ปี 2565-2570) ระยะปานกลาง 5-10 ปี และยาว 20 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563 ที่มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน จัดทำแผนพลังงานชาติ โดยรวบรวม ทั้ง 5 แผนพลังงานให้เป็นแผนเดียวกัน ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018 Rev.1) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2018) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2018) และร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2018)
โดยการจัดทำรายละเอียดต่างๆภายในแผนนี้ฯ จะมีความชัดเจนในเดือนมี.ค.2564 จากนั้นจะจัดสัมมนาใหญ่เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และในเดือนเมษายน 2564 การจัดทำแผนฯเบื้องต้นจะแล้วเสร็จก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติเพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติต่อไป
"วันนี้ นับเป็นการการคิกออฟระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนดังกล่าว ที่เปลี่ยนไปจากเดามที่เป็นลักษณะสั่งการจากผู้บริหารระดับสูงลงมาสู่ผู้ปฏิบัติ แต่รอบนี้จะให้คนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาสู่ระดับบริหารในอนาคตได้มีส่วนออกแผนการใช้พลังงานของประเทศที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต ทุกแผนจะมีเหตุและผลรองรับ และการเปลี่ยนโครงสร้างไฟฟ้า ก็จะแยกเรื่องของการรองรับยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ออกมาจากอุตสาหกรรม และจะเห็นว่า การลงทุนจะเป็นอย่างไร นำงบประมาณมาจากส่วนไหน เป็นนต้น”
สำหรับแผนฯดังกล่าวนั้น จะไม่มีการเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน(โรงใหม่) ขณะเดียวกันจะพิจารณปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าทั้งก๊าซฯ และถ่านหิน ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ออกจากระบบเร็วขึ้นซึ่งจะมีส่วนของแผนลดปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มีสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ในระดับ 30-40% ของกำลังผลิตไฟฟ้า จากระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 15-20% โดยปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นมากส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ซึ่งในส่วนนี้ หากพิจารณาถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการที่จะมียานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และรถไฟฟ้า 13 สาย เกิดขึ้นในประเทศ ประกอบกับการพัฒนาระบบโครงสร้างเทคโนโลยี 5G จะส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นและช่วยลดปริมาณสำรองไฟฟ้าในส่วนนี้ลงได้
นอกจากนี้ แนวทางการปรับแผนฯ จะมุ่งไปสู่การตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น ศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions หลังจาก สหรัฐฯ และยุโรป ได้กำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนภายในปี 2050 (ปีพ.ศ.2593) จีนปี 2060 เป็นต้น ซึ่งไทยเอง ก็ควรกำหนดเป้าหมายในเรื่องนี้ ให้ชัดเจนด้วย อีกทั้งการวางเป้าหมายดังกล่าวจะสอดรับกับนโยบายด้านพลังงานของอาเซียนที่ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เป็น 35% ในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันไทยกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 30% ก็จะต้องปรับไปสู่เป้าหมาย 35% ด้วยเช่นกัน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มจะฟื้นตัวและกลับมาเป็นบวกเมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ 6 เดือนแรกของปี 2564 ยังมีความไม่แน่นอนสูงเพราะวัคซีนยังคงไม่มาประเทศไทยแม้บางประเทศจะเริ่มฉีดแล้วก็ตาม ดังนั้นไทยจำเป็นต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก และการลงทุนภาคพลังงาน ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
“รัฐจะต้องชัดเจนซึ่งเป้าหมายด้านพลังงาน เช่น รถอีวี จะมาแน่นอน ดังนั้นหากนโยบายชัดเจนในอีก 5 ปีข้างหน้า อีวีจะเกิดขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนรถยนต์สันดาปภายในได้ แต่คาดว่า 10 ปีจะก้าวไปสู่อีวีทั้งหมด และแบตเตอรี่ (ESS) ที่ราคาเริ่มลดลงเรื่อยๆในที่สุดจะถึงจุดที่คนเข้าถึง”
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน จะต้องพิจารณาว่าโรงกลั่นจะเหลือน้ำมันชนิดใด สายส่งไฟฟ้าจะต้องปรับไปสู่สมาร์ดกริดอย่างไร เพื่อที่ 3 การไฟฟ้าจะไม่เกิดปัญหาลงทุนที่ซ้ำซ้อนกัน