'เจเน็ต เยลเลน' กับภาระ รมต.คลังสหรัฐ

'เจเน็ต เยลเลน' กับภาระ รมต.คลังสหรัฐ

จับตา "เจเน็ต เยลเลน" กับภาระหน้าที่ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ" คนต่อไปในรัฐบาล "โจ ไบเดน" กับความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเผชิญ รวมถึงในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ เจเน็ต เยลเลน มีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่นี้หรือไม่ อย่างไร?

ช่วงปลายเดือนที่แล้วมีข่าวว่านายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะแต่งตั้ง นางเจเน็ต เยลเลน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐคนต่อไป ข่าวดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางทั้งจากสื่อมวลชน วงการวิชาการ และตลาดการเงิน

นิตยสารเดอะ อิโคโนมิส (The Economist) ให้ความเห็นว่าไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนไหนเหมาะสมเท่านางเยลเลนที่จะรับตำแหน่งนี้ ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz) กล่าวว่าไม่มีใครพร้อมเท่าเยลเลนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาตอนนี้ ไม่ว่าในแง่ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ แนวคิด (Values) และความสามารถในการทำงานกับคนอื่น 

ขณะที่ตลาดการเงินก็ตอบรับข่าวในทางบวก หุ้นปรับสูงขึ้น มองว่าเยลเลนเป็นตัวเลือกที่ถูกต้องและตลาดการเงินเข้าใจความคิดความอ่านของเธอเป็นอย่างดี จากที่นางเยลเลนเคยเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐถึง 4 ปีและเธอสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนปรนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้

ผมเคยพบนางเยลเลนสมัยที่เธอดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลาง (เฟด) ซานฟรานซิสโก ตอนที่ผมทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย พบในงานสัมมนาวิชาการที่สำนักงานเธอจัด นางเยลเลนเป็นนักวิชาการเต็มตัว มีความรู้มาก มีประสบการณ์การทำนโยบายเศรษฐกิจที่ยาวนานและสื่อสารได้ดี ความสามารถดังกล่าวทำให้นางเยลเลนประสบความสำเร็จในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ 4 ปีต่อมา ช่วงปี 2014-2018 วันนี้จึงอยากเขียนถึงความท้าทายต่างๆ ที่ รมว.คลังคนใหม่ของสหรัฐจะต้องเผชิญและความเหมาะสมของนางเยลเลนที่จะทำหน้าที่นี้ มองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์

ที่หลายคนมองว่านางเยลเลนมีความพร้อมมากสุดคนหนึ่งที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐ ก็เพราะเธอเป็นนักเศรษฐศาสตร์โดยอาชีพ จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล มีศาสตราจารย์โทบินและศาสตราจารย์สติกลิตส์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา 

เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสอนหนังสือที่ LSE และเบิร์กลีย์ ทำงานกับภาครัฐครั้งแรกที่ธนาคารกลางสหรัฐในตำแหน่งนักวิจัย เป็นกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ ประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน เป็นประธานธนาคารกลาง (เฟด) ซานฟรานซิสโก รองประธานเฟด และดำรงตำแหน่งประธานเฟด หรือผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ปี 2014-2018 

การรับตำแหน่ง รมว.คลังครั้งนี้จะทำให้นางเยลเลนเป็นสุภาพสตรีคนแรกในตำแหน่งนี้ และเป็น รมว.คลังคนแรกที่มีประสบการณ์การทำงานในทั้ง 3 ตำแหน่งที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ คือประธานที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านเศรษฐกิจ ผู้ว่าการธนาคารกลาง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ปกติตำแหน่ง รมว.คลังสหรัฐจะเกี่ยวข้องกับงาน 3 ด้านหลัก 1.ประสานงานระหว่างรัฐบาลและสภาคองเกรสในเรื่องงบประมาณและการกู้ยืมเงิน 2.ดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินในฐานะที่ รมว.คลังเป็นประธานสภากำกับดูแลเสถียรภาพของระบบเงิน (Financial Stability Oversight Council) และ 3.ทำงานร่วมกับรัฐบาลต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ไอเอ็มเอฟ ในการดูแลเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบการเงินโลก ซึ่งบทบาทหลังนี้ได้อ่อนแอลงมากในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์

แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ คือมีวิกฤติเศรษฐกิจที่เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงจากผลของโควิด-19 ที่ยังไม่จบ ทำให้การหยุดระบาดและการฟื้นเศรษฐกิจจะเป็นงานสำคัญอันดับต้นๆ ของรัฐบาลโจ ไบเดน แต่นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ สหรัฐก็มีปัญหาความแตกแยกในทางการเมืองของคนในสังคม ที่จะกระทบการทำนโยบาย ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนเดิม 

ดังนั้น โจทย์สำคัญของ รมว.คลังสหรัฐจะไม่จบแค่การฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกกลับมาทำงานร่วมกันได้อย่างเข้มแข็งอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่ เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับ รมว.คลังสหรัฐคนต่อไป

เป็นที่คาดหวังว่าจากความรู้ความสามารถและแนวความคิดที่มีนางเยลเลนจะสามารถทำหน้าที่ รมว.คลังได้ดี โดยเฉพาะใน 3 เรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายอยากเห็นให้มีการแก้ไขและตัวเธอเองก็เริ่มแสดงความคิดเห็นในเรื่องเหล่านี้บ้างแล้ว นั่นคือการฟื้นเศรษฐกิจ การนำระบบการค้าและการเงินโลกกลับเข้าสู่ระบบพหุภาคีเหมือนเดิม และดูแลประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำและความเป็นอยู่ของกลุ่มคนที่อ่อนแอในสังคม โดยคาดหวังว่าเธอจะให้ความสนใจและทำเรื่องเหล่านี้จริงจัง

ในประเด็นแรก เรื่องการฟื้นเศรษฐกิจ คงไม่มีใครปฏิเสธว่านโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลายยังจำเป็นมากต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐ ดังนั้น การมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ที่มีประสิทธิภาพจึงสำคัญ แต่การดำเนินการเรื่องนี้ได้หยุดไปสมัยประธานาธิบดีทรัมป์

ในประเด็นนี้สิ่งที่ทำให้ผมสบายใจก็คือแนวคิดของเยลเลนที่ให้ความสำคัญเรื่องวินัยการเงินการคลังในการทำนโยบายเศรษฐกิจซึ่งต่างจากคนอื่น จริงอยู่เศรษฐกิจขณะนี้ต้องการการกระตุ้น ทำให้จำเป็นต้องใช้จ่าย แต่การใช้จ่ายก็ควรต้องให้ความสำคัญกับภาพระยะยาวของฐานะการเงินการคลังและความเป็นหนี้ของประเทศ เพราะรัฐบาลจะต้องมีการหารายได้เพื่อชำระคืนหนี้ในอนาคต 

ดังนั้น ในสายตาของเยลเลน การทำนโยบายการคลังอย่างมีวินัยจึงสำคัญ และไม่ต่างกับนโยบายการเงินที่ต้องมีวินัยเช่นกัน นางเยลเลนพูดเสมอว่าการทำนโยบายการเงินแบบมีกฎมีเกณฑ์ (Rules-based) สำคัญต่อการสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงิน ต่อความเป็นอิสระของธนาคารกลาง และการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว

การให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้ทำให้นักลงทุนสบายใจว่าสหรัฐจะไม่เข้าสู่สถานการณ์ที่เศรษฐกิจใช้จ่ายอย่างเกินตัวจนนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงในอนาคต

สอง ความคิดของนางเยลเลนที่สนับสนุนการค้าเสรีและความเป็นเสรีของตลาด ทั้งการค้าและเงินลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้มีโอกาสสูงที่นโยบายเศรษฐกิจสหรัฐจากนี้ไปจะกลับไปสู่การส่งเสริมความเป็นเสรีของตลาดและความร่วมมือของประเทศต่างๆ ที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมี ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ และใช้ระบบพหุภาคีเป็นกลไกส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางการค้าและการลงทุนที่เศรษฐกิจโลกมี ต่างกับเมื่อ 4 ปีก่อนที่ระบบพหุภาคีได้ถูกด้อยค่าลง 

เป็นที่คาดการณ์ว่าภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่สนับสนุนการค้าเสรีจะกลับมาอยู่ในสปอตไลท์อีก ขณะที่ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐกับจีนจะไม่รุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ และ/หรืออาจปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป ในเรื่องนี้ความเป็นนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ของนางเยลเลน จะทำให้การทำนโยบายของรัฐบาลสหรัฐมีเหตุมีผลบนพื้นฐานของหลักวิชาการและข้อมูล นำไปสู่การตัดสินใจที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก

สาม ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ นางเยลเลนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เศรษฐกิจสหรัฐมี เห็นได้จากผลกระทบที่วิกฤติโควิด-19 มีต่อคนส่วนล่างของสังคมที่มีคนขาดรายได้และตกงานจำนวนมาก เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ทั้งโดยการสร้างงานให้คนมีรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และการปฏิรูปให้ระบบประกันสังคม (Social Safety Net) มีความทั่วถึงที่จะดูแลคนส่วนล่างของสังคม นี่คือโจทย์เศรษฐกิจที่ได้ถูกละเลยมานานและวิกฤติโควิดก็แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจในเรื่องเหล่านี้ จนพูดได้ว่านำไปสู่ความแตกแยกของคนในสังคม

การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากแนวคิดที่เป็นกลาง การยอมรับความผิดพลาดของระบบทุนนิยม และมองประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ด้วยเหตุนี้การเข้ารับตำแหน่ง รมว.คลังของนางเยลเลนจึงสร้างความหวังว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข และนางเยลเลนในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในกระบวนการทำนโยบายเศรษฐกิจมายาวนาน จะสามารถผลักดันการแก้ไขให้เกิดขึ้นได้

ในความเห็นของผม ทั้งสามข้อที่พูดถึงนี้ทำให้นางเยลเลนเป็นความหวังและมีความเหมาะสมที่จะรับตำแหน่ง รมว.คลังสหรัฐ แม้มีการตั้งข้อสังเกตว่า นางเยลเลนไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้การประสานการทำงานระหว่างรัฐบาลและสภาคองเกรสที่เสียงส่วนใหญ่เป็นของพรรครีพับลิกันอาจมีข้อจำกัด ผลคือการผลักดันการแก้ไขปัญหาจะทำได้ยาก

ในเรื่องนี้ผมมองตรงข้ามคือ สหรัฐมีปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขที่ทุกคนรู้ นางเยลเลนในฐานะ รมว.คลังมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อส่วนรวม มีความเป็นกลางและมีความรู้ความสามารถที่จะทำ ทั้งสามสิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่มี ดังนั้น การสนับสนุนนางเยลเลนแก้ปัญหาจึงเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ