กทม.เตือนคนกรุง รับมือฝุ่น PM2.5 ระลอกใหม่ ปลาย ธ.ค.นี้
กทม.แจ้งเตือนประชาชนเตรียมรับมือสถานการณ์ PM2.5 ฝุ่นละลอกใหม่ปลายเดือน ธ.ค.
ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2563 ทั้งนี้ในที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินมาตรฐานในช่วงเดือน ธ.ค.-เม.ย.ของทุกปี เนื่องจากสภาพอุตุนิยมวิทยา มีอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้ฝุ่นละอองไม่สามารถลอยตัวได้ ทำให้มีการสะสมของฝุ่นละอองในอากาศเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และรัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมากทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำแผนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2564 และได้เวียนแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภารกิจ
อีกทั้งในช่วงหลายวันที่ผ่านมาพบว่าฝุ่นละออง PM2.5 สูงเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ และต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง สำหรับการประชุมในวันนี้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมธุรกิจพลังงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรมกรมประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ได้เสนอแนวทางการดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 รวมถึงการดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2564 ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.63-28 ก.พ.64 แบ่งออกเป็นระยะตามสถานการณ์ฝุ่น ดังนี้
มาตรการระยะที่ 1 สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองไม่เกิน 50 มค.ก./ลบ.ม. ได้แก่ การล้างถนน การกำกับดูแลสถานที่ก่อสร้าง บริการตรวจเช็คควันดำเครื่องยนต์ฟรี ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมในการปล่อยควันดำ กวดขันไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง งดกิจกรรมกลางแจ้งของเด็กเล็กและประชาสัมพันธ์ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นบริเวณสวนสาธารณะ เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้บริการติดตามคุณภาพอากาศผ่านแอปพลิเคชันและช่องทางประชาสัมพันธ์อื่นๆ
มาตรการระยะที่ 2 สำหรับสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กระหว่าง 50-75 มค.ก./ลบ.ม. ได้แก่ การปิดการเรียนการสอนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ครั้งละไม่เกิน 3 วัน การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดในการเผา การงดกิจกรรมก่อสร้างทุกประเภทที่เกิดฝุ่น การจัดให้มี Safe Zone ในทุกโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กสังกัดกรุงเทพมหานคร การจัดเก็บขยะมูลฝอยให้แล้วเสร็จก่อนเวลา04.00 น.
มาตรการระยะที่ 3 สำหรับสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก 76 มค.ก./ลบ.ม. ได้แก่ การปิดการเรียนการสอนครั้งละไม่เกิน 15 วันให้บุคลากรของกรุงเทพมหานครเหลื่อมเวลาการทำงานและลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้มาตรการจับปรับจอดรถไม่ดับเครื่อง และประสานให้หน่วยงานราชการใช้ระบบขนส่งมวลชน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำผิดในการเผา การตรวจวัดควันดำรถโดยสารไม่ประจำทางทุกคัน
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกเกี่ยวกับมาตรการการฉีดพ่นน้ำ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่ง กทม.ได้ดำเนินการอย่างเนื่อง มี 4 วิธี ประกอบด้วย การฉีดน้ำล้างต้นไม้เพื่อชะล้างฝุ่นPM2.5 ที่เกาะอยู่กับใบไม้ ให้ใบไม้สะอาดเพื่อให้สามารถดักจับฝุ่นใหม่ต่อไป การฉีดน้ำล้างถนนเพื่อล้างฝุ่น PM10 ลงท่อระบายน้ำอันเป็นการป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายกลับขึ้นมาในอากาศ การฉีดน้ำบริเวณเขตก่อสร้างเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น PM10 และป้องกันไม่ให้ฝุ่น PM10 แตกตัวเป็นฝุ่นละออง PM2.5 และการฉีดน้ำรอบอาคารสูงเพื่อลดปริมาณฝุ่นรอบๆ อาคาร เพื่อป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ฟุ้งกระจายเข้าไปสร้างผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในอาคารสูง จะช่วยให้ฝุ่นละอองโดยรอบอาคารโดนจับเปรียบเสมือนเครื่องกรองอากาศชั้นหนึ่ง
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า จากการประชุมในวันนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าจะมีสถานการณ์ฝุ่นเกิดขึ้นอีก ระหว่างวันที่ 25-29 ธ.ค.นี้กทม.ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าให้ระมัดระวังตนเอง โดยการสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน งดการเผาในที่โล่งแจ้ง การงดใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลหรือรถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ อีกทั้งกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร จะตั้งด่านตรวจวัดควันดำ เชื่อมั่นว่าเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
ขณะที่ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมืองโฆษก กทม. กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นหลังวันที่ 20 ธ.ค.เป็นต้นไป ซึ่ง กทม.ได้เตรียมแผนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แบ่งเป็น 3 มาตรการ รวมถึงประชุมทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกเกี่ยวกับการฉีดพ่นน้ำ ขอความร่วมมือไม่ให้ฉีดพ่นน้ำขึ้นไปในอากาศให้ดำเนินการตามที่กทม.กำหนด 4 วิธี 1.การฉีดน้ำล้างต้นไม้ 2.การฉีดน้ำล้างถนน 3.การฉีดน้ำบริเวณเขตก่อสร้าง และ4.การฉีดน้ำรอบอาคารสูง