‘นายก อบจ.หญิง’ ผงาด 12 จังหวัด ‘ภูมิใจไทย’ แรง ยึด 8 เก้าอี้

‘นายก อบจ.หญิง’ ผงาด 12 จังหวัด ‘ภูมิใจไทย’ แรง ยึด 8 เก้าอี้

หลังการเลือกตั้ง ส.อบจ. และ นายกอบจ. แล้วเสร็จเราได้เห็นหน้าคร่าตาของ "ว่าที่ นายก อบจ." กันไปบ้างแล้ว และรอบนี้ทำให้เห็นบทบาทของผู้หญิงที่ลงชิงชัย จนได้รับชัยชนะมากถึง 12 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใต้ร่ม "ภูมิใจไทย"

การเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศ ที่รอการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการ ก็เห็นโฉมหน้าว่าที่นายก อบจ.และสมาชิก ที่มีผู้ชิงเก้าอี้ในปี 2563 นี้รวม 335 คน แบ่งเป็น ชาย 282 คน หญิง 53 คน

โดยผลการเลือกตั้งที่น่าสนใจ คือ ว่าที่ นายก อบจ.หญิง ที่เข้าวินในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีมากถึง 12 จังหวัด คิดเป็น 9.12% ของ 76 จังหวัด

ว่าที่ นายก อบจ.หญิง ทั้ง 12 คนมี ดังนี้ 1. อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ว่าที่ นายก อบจ. เชียงราย 2. ศุภพานี โพธิ์สุ ว่าที่นายก อบจ. นครพนม 3.กนกพร เดชเดโช ว่าที่นายก อบจ. นครศรีธรรมราช 4. ยลดา หวังศุภกิจโกศล ว่าที่ นายก อบจ.นครราชสีมา 5. แว่นฟ้า ทองศรี ว่าที่ นายก อบจ.บึงกาฬ 6. สมทรง พันธ์เจริญวรกุล ว่าที่ นายก อบจ. พระนครศรีอยุธยา 

7.อรพิน จิระพันธุ์วาณิช ว่าที่ นายก อบจ. ลพบุรี 8. ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร ว่าที่นายก อบจ.ลำปาง 9.นันทิดา แก้วบัวสาย ว่าที่ นายก อบจ.สมุทรปราการ 10. ขวัญเรือน เทียนทอง ว่าที่ นายกอบจ.สระแก้ว 11. วันเพ็ญ ตั้งสกุล ว่าที่นายก อบจ.อำนาจเจริญ และ 12. คมคาย อุดรพิมพ์ ว่าที่ นายก อบจ.มหาสารคาม

ตลอดการลงชิงชัยในสนามการเมืองท้องถิ่นของ “12 ว่าที่นายก อบจ.หญิง” มีแง่มุมที่น่าสนใจ โดย เป็น “ว่าที่นายก อบจ.หญิง” ที่คว้าชัยชนะ ใต้ร่มของ “พรรคภูมิใจไทย” ถึง 8 คน ได้แก่ 

     

     

 

  คนแรก "แว่นฟ้า ทองศรี" ว่าที่ นายก อบจ.บึงกาฬ แม้จะลงสมัครใน กลุ่มนครนาคา ได้ 49,106 คะแนน และเธอเป็น ภรรยาของ ”ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย พรรคภูมิใจไทย 

คนที่สอง คือ “อรพิน จิระพันธุ์วาณิช" ว่าที่ นายก อบจ.ลพบุรี แม้เธอจะเคยนั่ง นายก อบจ.มาแล้ว แต่รอบนี้คือการลงสมัครเพื่อป้องกันตำแหน่ง ในนาม กลุ่มเรารักลพบุรีคะแนนที่ได้ 205,320 นั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า มีแรงผลักดันในฐานะสะใภ้ของ “กมล จิระพันธุ์วาณิช” อดีต ส.ส.หลายสมัย ที่ปัจจุบันสังกัดภูมิใจไทย

คนที่สาม “ดร.คมคาย อุดรพิมพ์” รักษาเก้าอี้ นายก อบจ.มหาสารคาม ไว้ได้อีกสมัย รอบนี้เธอลงสนามโดยสวมเสื้อภูมิใจไทยชัดเจน จากพลังที่เธอมี บวกกับแต้มต่อสมัยที่เป็น นายกอบจ. ทำให้ประชาชนไว้ใจ ได้ถึง 192,119 คะแนน

คนที่สี่ "วันเพ็ญ หรือ ตุ๊ก ตั้งสกุล” ว่าที่นายก อบจ.อำนาจเจริญ ลงแข่งขันภายใต้ กลุ่มภูมิใจไทอำนาจ ด้วยสถานะทายาทร้อยล้าน และลูกสาวของ สวัสดิ์ ตั้งสกุล นักธุรกิจ แต่แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังคือ “สุขสมรวย วันทนียกุล" เลขานุการ รมว.คมนาคม ทำให้ได้ถึง 91,742 คะแนน

160854377170

ก่อนหน้านี้ “วันเพ็ญ” เคยลงสนามในฐานะผู้สมัคร ส.ส.อำนาจเจริญ พรรคภูมิใจไทย เขต 1 แต่พ่ายให้กับ “สมหญิง บัวบุตร จากพรรคเพื่อไทย” ไปเพียง 1,666 คะแนนเท่านั้น

คนที่ห้า “ดร.หน่อย - ยลดา หวังศุภกิจโกศล” ว่าที่นายก อบจ.นครราชสีมา แม่บ้านของวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ พรรคภูมิใจไทย รอบนี้ ดร.หน่อย ใช้ชื่อกลุ่มสร้างโคราชโฉมใหม่ และเป็นสโลแกนหาเสียง ด้วยแรงหนุนจากแกนนำรัฐบาล และทีมผู้บริหาร อบจ. ยุคเก่า ทำให้เธอกวาดถึง 617, 351 คะแนน

160854377110

คนที่หก  “น้องขวัญ - ศุภพานี โพธิ์สุ" ว่าที่นายก อบจ. นครพนม ที่ลงในนาม กลุ่มนครพนมร่วมใจ ลูกสาวสุดที่รักของ “สหายแสง” ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง พรรคภูมิใจไทย ดีกรีลูก ส.ส. และแรงผลักดันขององคาพยพของทีมภูมิใจไทย ทำให้เธอได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 161,933

คนที่เจ็ด “เจ้ซ้อ -สมทรง พันธ์เจริญวรกุล" ว่าที่ นายก อบจ. พระนครศรีอยุธยา แม้การลงเลือกตั้งรอบนี้ เพื่อรักษาแชมป์เก่า แต่ด้วยสถานะมารดา ของ สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ส.ส.อยุธยา พรรคภูมิใจไทย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากแรงหนุนเดิมที่มีอยู่แล้ว ยังได้แรงเสริมจากการผลงานของพรรคภูมิใจไทยระดับประเทศ ส่งผลให้ขึ้นแทน นายก อบจ.สมัยที่ 4  อีกทั้งผลงานที่ผ่านมา ยังนำหน่วยงานได้รับรางวัลการบริหารจัดการดีเด่น และยังมีรางวัลส่วนตัว การันตีหลายบทบาท ทำให้คะแนนพุ่งสูงถึง 251,939 ​

คนที่แปด "สจ.นก -อทิตาธร วันไชยธนวงศ์" ว่าที่ นายก อบจ. เชียงราย ก่อนหน้านี้เธอ เคยอยู่ใต้สังกัดพรรคเพื่อไทย และดำรงตำแหน่ง สจ.เชียงราย เขต อ.เทิง หลายสมัย ทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ เธอลงในนามอิสระ หลังจากที่พรรคเพื่อไทย ดัน “น้องยิ้ม- วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์” ลูกสาวของ ส.ส.วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ลงในนามพรรค ทำให้สนามเลือกตั้งเชียงราย ดูเหมือนเป็นศึกของคนพรรคเพื่อไทย ทำคว้ามาได้ถึง 2.38 แสนคะแนน

แต่จริงๆ แล้ว “สจ.นก” เคยลงเลือกตั้ง ส.ส.ในนามพรรคภูมิใจไทย เมื่อปี 2554 และการเลือกตั้งนายก อบจ.รอบนี้ ในทางลับมีพรรคใหญ่แกนนำรัฐบาล เป็นแบ็คอยู่เบื้องหลัง ขณะที่บิดา

"สมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ อดีต ส.ส.เชียงราย 8 สมัย เมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็อยู่ในบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย

 

 

สำหรับว่าที่ นายก อบจ.หญิง อีก 4 คนนั้น มีทั้งจาก พรรคประชาธิปัตย์ คือ "กนกพร เดชเดโช” ชื่อเล่น “ต้อย” ว่าที่นายก อบจ. นครศรีธรรมราช ลงสมัครในนามกลุ่มพลังเมืองนคร ได้คะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่ 2.58 แสนคะแนน

 เส้นทางการเมืองของเธอ ถือว่ารับไม้ต่อจากสามีผู้ล่วงลับไปแล้ว วิฑูรย์ เดชเดโช อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ขณะที่ลูกชาย “ชัยชนะ เดชเดโช” ก็นั่ง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์            ในพื้นที่นี้ “นายกฯต้อย” ต้องขับเคี่ยวกับผู้สมัครอีก 7 คน และส่วนหนึ่งถือเป็นเลือดประชาธิปัตย์ ถึง 2 คน แต่โค้งสุดท้ายของการหาเสียง เธอใช้ความได้เปรียบฐานะผู้หญิง อ้อนขอคะแนนทั้งน้ำตา กลางเวทีปราศรัย หลังมีใบปลิวโจมตี หวังตัดคะแนน ในที่สุด“กนกพร” ก็คว้าเก้าอี้ นายก อบจ. นครศรีธรรมราช หญิงคนแรก

คนต่อมาคือ นายก อบจ.หญิงคนแรก ของเมืองปากน้ำ “ตู่” นันทิดา แก้วบัวสาย ภรรยาบ้านใหญ่ “ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ และประธานที่ปรึกษาสโมสรฟุตบอลสมุทรปราการซิตี้ อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ 

160854424887

นันทิดา เปลี่ยนเส้นทางจากนักร้อง นักแสดง มาลงสนามการเมืองรอบนี้ ในนามกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า และต้องชิงกับผู้สมัครชายถึง 4 คน หนึ่งในนั้น คือ “อำนวย รัศมิทัต” อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ แต่ด้วยบารมีของเจ้าพ่อเมืองปากน้ำ ทำให้ “นายกฯตู่” ได้คะแนนเหนือคู่แข่งถึง 341,504 คะแนน

อีก 2 ว่าที่นายก อบจ.หญิง ที่พรรคเพื่อไทย ส่งเข้าประกวด คือ “ขวัญเรือน เทียนทอง” ว่าที่นายกอบจ.สระแก้ว น้องสะใภ้บ้านใหญ่สระแก้ว “เสนาะ เทียนทอง” เธอเป็นมารดาของ ส.ส. ฐานิสร์ เทียนทอง และ ส.ส.ตรีนุช เทียนทอง ซึ่งลูกทั้งสองย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ ด้วยฐานเสียงบ้านใหญ่ ทำให้ “ขวัญเรือน” คว้ามาได้ 93,574 คะแนน 

160854377014

ส่วน ”ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร“ ว่าที่นายก อบจ.ลำปาง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลูกสาว ”ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ส.ส.ลำปาง และน้องสาวของ กิตติพร โล่ห์สุนทร ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย ด้วยบารมีของพ่อ และพี่ชาย ทำให้การถอยฉากจากการเมืองระดับประเทศมาสู่การเมืองท้องถิ่น ก็ยังทำให้เธอได้มาถึง 220,284 คะแนน

ว่าที่ อบจ.หญิงทั้ง 12 คน ต้องรอการประกาศรับรองคะแนนและผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจาก กกต. หากพื้นที่ไหนการเลือกตั้งเชื่อได้ว่าสุจริต โปร่งใส จะได้หอบคะแนนความไว้วางใจ เข้าไปทำงานในท้องถิ่นสมใจ 

และส่วนหนึ่ง คือการเข้าไปเกื้อหนุนการทำงานระดับชาติ ภายใต้ร่มของพรรคการเมืองที่สังกัด หรือพรรคการเมืองที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง อย่างปฏิเสธไม่ได้!