มทร.ธัญบุรี ปรับหลักสูตร ตอบโจทย์ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
มทร.ธัญบุรี ปรับหลักสูตรรับโลกยุคใหม่ สนองความต้องการ12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งด้านเกษตรและอาหาร โลจิสติกส์ เศรษฐกิจดิจิทัล ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่ปี 64 กว่า 6 พันคน
ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี มีแผนการรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2564 จำนวนทั้งสิ้น 6,515 คน แบ่งเป็นการรับผ่านระบบ TCAS 64 รอบ 1 จำนวน 1,772 คน รอบ 2 จำนวน 1,145 คน รอบ 3 จำนวน 744 คน รอบ 5 จำนวน 189 คน และรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับปวช.และปวส. จำนวน 3,696 คน โดยคณะที่มีจำนวนรับนักศึกษาใหม่มากที่สุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วยคณะบริหารธุรกิจ 1,650 คน คณะวิศวกรรมศาสตร์ 1,485 คน และคณะศิลปศาสตร์ 560 คน
ทั้งนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่าน สาขา 3 อันดับแรกที่มีการแข่งขันสูงสุดในกลุ่ม ม.6 และปวช. ประกอบด้วยวิศวกรรมไฟฟ้า ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร วิศวกรรมโยธา ส่วนในกลุ่มปวส. 3 อันดับแรก ประกอบด้วย วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมอุตสาหการ ส่วน 3 สาขาที่มีจำนวนผู้สมัครมากที่สุดในกลุ่มม.6 และปวช.ประกอบด้วย วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (9 สาขาวิชา) ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ส่วนระดับ ปวส. ประกอบด้วย สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมเครื่องกล
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มความต้องการเรียนของนักศึกษาในปีต่อไปนั้น เชื่อว่าจะมีลักษณะคล้ายกับปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการกำลังคนในทิศทางไหน ซึ่งหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมุ่งตอบโจทย์ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่แล้ว นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจะมีงานทำอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เพื่อให้ตอบสนองโจทย์ของประเทศ มทร.ธัญบุรีได้กำหนดทิศทางเป้าหมายไว้ 5 ด้าน 1. ด้านนวัตกรรมเกษตรและอาหาร (Agro-Food innovation) 2. ด้านนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Innovation) 3. ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) 4. ด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์(Tourist & Creative Economy) 5. ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health and Wellness) เพื่อเป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัย ยังผลักดันให้เกิดหลักสูตร Co-design กับสถานประกอบการอีกมากมาย เช่น หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ หลักสูตร CWIE (Cooperative and Work Integrated Education) เป็นหลักสูตรร่วมทำกับสถานประกอบการ การบูรณาการด้านจัดการเรียนการสอน นอกจากนี้นักศึกษายังได้เรียนรายวิชาบูรณาการเพื่อพัฒนา Soft Skill เช่น วิชาความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) วิชาการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) วิชาอัตลักษณ์แห่งราชมงคลธัญบุรี (RMUTT Identity) และรายวิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน (Innovation for the Community) อีกด้วย