แกะรอยขน‘แรงงานเถื่อน’เข้าไทย

แกะรอยขน‘แรงงานเถื่อน’เข้าไทย

' ฝ่ายมั่นคง' กำลังควานหา ‘เจ้าหน้าที่’ เปิดทาง แรงงานต่างด้าว เข้าไทยผิดกฎหมาย ขณะที่ 'กองทัพ' พบลอบเข้าทางทะเลพื้นที่ระนองมากที่สุด

กลายเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โต หลังมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ ‘โควิด-19’ ที่ตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวชาว ‘เมียนมา’ ทำให้เชื้อแพร่กระจายในพื้นที่หลายจังหวัดของไทย

จนเป็นที่มาของการประกาศ ‘ล็อคดาวน์’ 3 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และ บางส่วนของสุพรรณบุรี คือ อำเภอสองพี่น้อง รวมถึงจังหวัดอื่นที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( ผอ.ศบค) ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีร่วมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ชี้แจงสถานการณ์ในภาพรวมและสั่งดำเนินการขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ ‘โควิด’ กลับมาระบาดรอบใหม่ หลังได้รับข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ พลเรือน อาสามัคร นายจ้าง นายหน้า เข้าไปเกี่ยวข้อง พร้อมกับมอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นประธานตรวจสอบ

หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ตามแนวชายแดนทั้งทางน้ำ และทางบก ประกอบด้วย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) กองทัพ ตำรวจตระเวนชายแดน อาสาสมัครทหารพราน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กำลังถูก ‘เพ่งเล็ง’ ว่ามี เจ้าหน้าที่หน่วยงานใดเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะเป็นด่านแรกที่ขบวนการแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเดินทางผ่านเข้ามา

ทั้งนี้ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ 4 ประเทศ คือ สหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา และมาเลเซีย มีแนวเขตทางบก 5,656 กิโลเมตร มีจังหวัดติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 32 จังหวัด 128 อำเภอ

สำหรับช่องทางที่ใช้ผ่านแดน ประกอบด้วย ช่องทางปกติ คือ ‘ตม.’ ทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบด้วย กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 (บก.ตม.1) ดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (บก.ตม.2) ดูแลท่าอากาศยานทั่วประเทศ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 (บก.ตม.3) ดูแลพื้นที่ภาคกลาง ,กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4 (บก.ตม.4) ดูแลภาคอีสาน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5 (บก.ตม.5) ดูแลภาคเหนือตอนบน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 (บก.ตม.6) ดูแลภาคใต้

และจุดผ่านแดน 93 แห่ง แบ่งเป็น จุดผ่านแดนถาวร 36 แห่ง จุดผ่านแดนชั่วคราว 2 แห่ง และ จุดผ่อนปรน 54 แห่ง จุดผ่อนปรนเพื่อการท่องเที่ยว 1 แห่ง ส่วนช่องทางผิดกฎหมาย คือ ช่องทางธรรมชาติ ทั้งทางน้ำ และ ทางบก อีกนับไม่ถ้วนที่สามารถเดินผ่านข้ามได้ในทุกพื้นที่

สำหรับพื้นที่เป็นปัญหาและถูกจับตามองมากที่สุดคือชายแดนติดกับเมียนมา โดยในช่องทางปกติ มี กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 (บก.ตม.3) กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4 (บก.ตม.4) กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5 (บก.ตม.5) โดยดูแลครอบคลุมไปถึงการดูแลจุดผ่านแดนถาวร 5 แห่ง ประกอบด้วย

1.จังหวัดเชียงราย 2 จุด สะพานข้ามแม่น้ำสายที่ 1 และสะพานข้ามแม่น้ำสายที่ 2 อำเภอแม่สาย ซึ่งติดกับเมืองท่าขี้เหล็กรัฐฉานของพม่า 2.จังหวัดตาก อำเภอแม่สอด ติดกับ เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง 3.จังหวัดระนอง 3 จุด ด่านตรวจคนเข้าเมือง ปากน้ำระนอง ท่าเทียบเรือบริษัทอันดามันคลับติดกับเมืองเกาะสองภาคตะนาวศรี และผ่านจุดผ่านแดนชั่วคราว

160877495682

ในขณะที่จุดผ่อนปรน 13 แห่ง อยู่ในการดูแลของ ฝ่ายปกครอง ของกระทรวงมหาดไทย ส่วนช่องทางธรรมชาติ มีกองกำลังผาเมือง กองกำลังนรเรศวร กองกำลังสุรสีห์ ร่วมกับอาสาสมัครทหารพราน และตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) ส่วนพื้นที่ทางทะเลอยู่ในความดูแลของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กองทัพเรือ และตำรวจน้ำ

หลังเกิดกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ระบุว่ามีข้อมูลเครือข่ายนำพาลักลอบคนข้ามแดน โดยผ่านทางช่องทางธรรมชาติ (ทางน้ำและทางบก) และอยู่ระหว่างการตรวจสอบหาเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำ ให้ดำเนินการเฉพาะ ‘ขบวนการ’ นำเข้า

ในขณะที่ พล.ท.เชาวลิต สังฆฤทธิ์ โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย ย้ำว่า จากการตรวจสอบ ไม่มีรายงานทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ หรือ ขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย และจากข้อมูลพบว่า มีการนั่งเรือลอบเข้ามาไทยทางทะเลมากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ระนอง

ส่วน พล.ร.ต.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษก ศรชล.กองทัพเรือ เปิดเผยว่า ได้จัดหมู่เรือลาดตระเวณ เส้นทางทะเลสอดส่องเรือผิดกฎหมาย รวมถึงเข้มงวดควบคุมการเดินทางเข้าออกทางน้ำ ที่ผ่านมาไม่มีรายงานว่าตรวจพบผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายมาทางทะเล ส่วนใหญ่เป็นเรือที่เข้ามาโดยถูกกฎหมาย และลูกเรือที่เป็นชาวเมียนมา จะมีใบประกอบวิชาชีพถูกต้องตามกฎหมาย ที่สามารถสืบประวัติได้หมดทุกคน

แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งกลับพบว่า ขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ใช้ช่องทางปกติ ถูกกฎหมายขนคนข้ามแดน โดยจ่ายเงินให้กับ ‘ผู้ที่เกี่ยวข้อง’ เพื่อผ่านด่านต่างๆ เข้ามาพื้นที่ชั้นใน ก่อนส่งไปยังจังหวัดปลายทาง หรือเรียกผู้ดำเนินการว่า ‘ชิปปิ้ง’ และเรียกแรงงานผิดกฎหมายว่า ‘พัสดุ’ 

รวมถึง ‘ศูนย์พักพิง’ ชาวเมียนมา 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก แม่ฮ่องสอน ราชบุรี กาญจนบุรี ที่อยู่ในความดูแลกระทรวงมหาดไทยกำลังถูกจับตา

ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการตำรวจ พลเรือน อาสามัคร นายจ้าง นายหน้า อยู่ในมือแล้ว รอแค่เพียงการตรวจสอบ ‘พยาน-หลักฐาน’ จาก ‘พล.อ.ชัยชาญ’ ที่จะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่วัน ก่อนเปิดชื่อ ‘ไอ้โม่ง’ ทำหน้าที่เปิดทาง ‘ขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย’ ต้นตอโควิดระลอกใหม่

ดังนั้นจึงต้องเกาะติด ปฏิบัติการกวาดล้างขบวนการนำแรงงานเถื่อนเข้าประเทศ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลั่นเอาไว้ว่า “จะต้องถูกดำเนินคดี ถูกทำลายให้สิ้นซาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ หรือประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพราะการแพร่ระบาดครั้งนี้ ตรวจพบผู้ติดเชื้อจากแรงงานต่างด้าวมากที่สุด"

การเคลียร์ปัญหานี้ จะถูกยกระดับเป็น"วาระแห่งชาติ" ที่ทำต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง จนยุติธุรกิจมืดนี้ได้ หรือเพียงแค่ “วาระไฟไหม้ฟาง”