พระราชินี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระราชินี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระราชินี เสด็จฯ ไปทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ เป็นการส่วนพระองค์ ทรงร่วมกิจกรรมแปรรูปสมุนไพร ในโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.63 เวลา 18.10 น.สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ เป็นการส่วนพระองค์ ในโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนาย นายภัคพงษ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนเฝ้าฯรับเสด็จ การนี้ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระบรมรูปพระบาทสมด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ณ ค่ายนเรศวร

160887485265

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงยัง โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสร็จประทับรถรางพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ทอดพระเนตร และทรงรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริในการดำเนินโครงการฯ และทรงรับฟังการบรรยายการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4อย่าง และการปลูกป่าโดยวิธีปลูกป่าทางไกล และทรงปลูกป่าทางไกลด้วยการยิงหนังสติ๊ก เมล็ดมะขาม เมล็ดมะกำตัน เมล็ดต้นคูณ  การนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงนำหนังสติ๊กส่วนพระองค์ที่ทรงทำจากยางพลาสติกของแท้มาทรงยิงเมล็ดมะขาม เมล็ดมะกำตัน เมล็ดต้นคูณ ไปทางหุบเขาป่าหัวโล้น ด้วยความสนพระทัย พร้อมทรงมีพระราชดำรัสชื่นชมผู้ที่คิดค้นวิธีการปลูกป่าด้วยวิธีนี้นอกจากจะทำให้ป่าไม้มีความสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยทำให้คนเพลิดเพลินในการยิงหนังสติ๊กอีกด้วย

160887497127

ต่อมาประทับรถรางพระที่นั่งไปยังสระเก็บน้ำ A และสระเก็บน้ำ B ทรงรับฟังการบรรยายสรุปเรื่องการบริหารจัดการน้ำภายในพื้นที่โครงการฯ และทอดพระเนตรพืชสมุนไพรสวนนานาพฤกษสมุนไพร โอกาสนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงร่วมกิจกรรมการแปรรูปสมุนไพรในรูปแบบต่างๆ อาทิ ทรงทดลองทำลูกประคบสมุนไพร ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นผสมสมุนไพร กระทั่งการมัดลูกประคบด้วยพระองค์เอง ทรงปรุงยาหม่องน้ำมันไพล น้ำมันไพล และสเปรย์กันยุงจากมะกรูด และตะไคร้หอม เป็นต้น 

160887526523

เมื่อได้เวลาอันสมควร เสด็จฯเข้าภายในอาคารสำนักงานโครงการฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กราบบังคมทูลถวายรายงาน ความเป็นมาและการบริหารจัดการโครงการ สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทอดพระเนตรวีดิทัศน์ภาพรวมโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยความสนพระราชหฤทัย

160887480428

ต่อมาทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์จากโครงการชัยพัฒนา,โครงการชั่งหัวมัน และชมผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน จาก 8 อำเภอ ในจังหวัดเพชรบุรี อาทิผลิตภัณฑ์กระเป๋าศรนารายณ์ทรงโมเดิร์น จากกลุ่มอาชีพสตรีจักสานป่าศรนารายณ์ อ.ชะอำ ผลิตภัณฑ์กล้วยหอมทองแปรรูป ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน กระเป๋าผ้า อ.หนองหญ้าปล้อง ผลิตภัณฑ์เกลือทะเลแปรรูปที่นำมาเป็นผลิตภัณฑ์สปา จาก อ.บ้านแหลม  ผลิตภัณฑ์ผ้าทอกระเหรี่ยงโปว์ บ้านสองพี่น้อง อ.เมืองเพชรบุรี และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ลูกตาลเป็นขนมหวายและสบู่บำรุงผิว จาก อ.ท่ายาง เป็นต้น ทั้งนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ได้พระราชทานกำลังใจให้แก่ตัวแทนร้านต่างในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพ อีกทั้งทรงอุดหนุนสินค้าจากชาวบ้านทั้ง 8 อำเภอ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ร้านต่างๆ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

160887482399

โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ห้วยทราย เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 มีพระราชกระแสรับสั่งว่า พื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และบริเวณใกล้เคียง เคยมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีน้ำตกและลำธารไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่ตลอดปี แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลับเสื่อมโทรมลง ปริมาณน้ำฝนลดน้อยลงทุกปี และไม่ตกต้องตามฤดูกาลเกรงว่าพื้นที่นี้จะแห้งแล้งกลายเป็นทะเลทราย จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว ประมาณ 15,880 ไร่ ให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา ด้านการเกษตรกรรม โดยเน้นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับอุดมสมบูรณ์ดังเดิม สามารถทำการปลูกพืชต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนการปลูกป่า และการเพาะปลูกพืช จัดระเบียบราษฎรให้ราษฎรในพื้นที่โครงการเข้าอยู่อาศัย และทำกินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ราษฎรเข้าร่วมดูแลรักษา ตลอดจนได้อาศัยผลผลิตจากป่า และการปลูกพืชต่าง ๆ โดยไม่ต้องเข้าบุกรุกทำลายป่าไม้อีกต่อไป

160887598468

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชประสงค์จะดำเนินการทดลองการฟื้นฟูพื้นที่ ในพื้นที่ขนาดเล็ก เพราะศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ มีพื้นที่ใหญ่เกินไป และพบว่าได้พื้นที่บริเวณบ้านอ่างหิน ม.6 ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่อยู่ใกล้เคียงกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ มีสภาพพื้นที่เสื่อมโทรมเช่นเดียวกัน พื้นที่ดังกล่าวมีจำนวน 3 แปลง ติดต่อกันรวม 340 ไร่ แปลงที่ 1 เป็นชื่อในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แปลงที่ 2 เป็นชื่อหม่อมเจ้าหญิงลุอิสาณ์ดิสกุล แปลงที่ 3 ชื่อท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ซึ่งในเวลาต่อมาหม่อมเจ้าหญิงลุอิสาณ์ ดิสกุลและท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้เริ่มดำเนินงานตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 ว่า

160887487156

“พื้นที่ของสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษา ประกอบด้วยการชลประทาน สร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้ และกิจกรรมอื่นๆตามความจำเป็น เพื่อเป็นศูนย์กลางทางวิชาการ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ศึกษารูปแบบการเกษตรที่เหมาะสม และถ่ายทอดสู่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 โดยมีศูนย์โครงการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบในการสนองต่อพระราชดำริ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานที่ดินผืนนี้ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา ดังนั้นมูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้เข้ามารับผิดชอบ ดำเนินงานต่อตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2548 โดยใช้งบประมาณดำเนินการทั้งหมดของมูลนิธิฯ แต่ยังคงรูปแบบการดำเนินงานตามที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานไว้ ภายใต้ชื่อ “โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”

160887555864

160887536638

160887553431

ผลการดำเนินงาน เพื่อพื้นฟูสภาพพื้นที่ และการจัดการด้านการเกษตรกรรมในสวนสมเด็จฯ ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้ การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ การเพิ่มพื้นที่ป่า โดยการปลูกป่าในรูปแบบ ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างไม้ 3 อย่าง ได้แก่ ไม้โตเร็ว เช่น ไม้สะเดา ไม้กระถิน ไว้ใช้ทำฟืนหรือเผาถ่านได้ อย่างที่ 2 คือ ไม้กินได้ ไม้อาหาร ไม้ผล รวมทั้งพืชสมุนไพร และอย่างที่ 3 คือไม้ใช้สอย ไม้เศรษฐกิจ ไว้สร้างบ้านเรือน คอกสัตว์ เป็นต้น ส่วนประโยชน์อย่างที่ 4 คือการอนุรักษ์ดินและน้ำ จัดทำแปลงวนเกษตร เป็นการทำการเกษตรในพื้นที่ป่า มีการปลูกป่าแล้วแซมด้วยพืชผลต่าง ๆ เช่น ไม้ผล พืชไร่ พืชผัก รวมทั้งพืชสมุนไพร การจัดทำแปลงรวบรวมพันธุ์ไม้ประเภทต่าง ๆ เช่น รวบรวมพันธุ์ไม้ย้อมสี รวบรวมพันธุ์ไม้พื้นเมือง รวบรวมพันธุ์ไม้หอม เป็นต้น

160887489750

การจัดการด้านเกษตรกรรม เป็นการจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรนำไปใช้ หรือปรับใช้ การจัดระบบปลูกพืช และการทำฟาร์มแบบผสมผสาน การปลูกพืชโดยมีไม้ผล เช่นมะม่วง เป็นหลัก และปลูกแซมด้วยพืชอายุเก็บเกี่ยวสั้น เช่น พืชไร่ พืชผัก หรือไม้ผลขนาดเล็ก เพื่อให้มีรายได้ตลอดปี การปลูกพืชหมุนเวียนชนิดต่าง ๆ ให้มีรายได้ตลอดปี เช่น ในที่ลุ่มมีการทำนา โดยปลูกพืชไร่ก่อน และหลังนา หรือการปลูกพืชผักหลังทำนา ส่วนที่ดอนจะมีการปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ หมุนเวียนไป เช่น ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วลิสง การจัดทำแปลงสาธิต แปลงเกษตรตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ทั้งแบบที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว และแบบที่สามารถเติมน้ำในสระได้ การเพาะเห็ดจากวัสดุเหลือทางการเกษตร การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในระบบการปลูกพืช โดยทดลองปลูกร่วมกับไม้ผล พืชผัก ไม้ดอก พืชไร่ เพื่อช่วยป้องกันการชะล้าหน้าดินบริเวณแปลงปลูกพืช พร้อมกับมีการตัดใบมาใช้คลุมแปลง

160887554734

การใช้ประโยชน์ของพืชสมุนไพรโดยร่วมกับคณะเภสัช มหาวิทยาลัยมหิดล ปลูกพืชสมุนไพรโดยจัดเป็นหมวดหมู่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นในชุมชน เช่น กลุ่มแก้อาการท้องผูก ถ่ายพยาธิ กลุ่มแก้ท้องเสีย แก้บิด กลุ่มขับปัสสาวะ กลุ่มแก้ไข้ กลุ่มที่มีฤทธิ์ต่อระบบหายใจ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้แปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ทำลูกประคบ ทำยาหม่องสมุนไพรสูตรต่าง ๆ และชาสมุนไพร เป็นต้น แหล่งน้ำภายในโครงการสวนสมเด็จฯ การจัดหาแหล่งน้ำเป็นพระราชดำริลำดับแรกที่ต้องจัดทำ เพื่อสนับสนุนการปลูกป่า และการเพาะปลูกพืช พื้นที่ภายในโครงการสวนสมเด็จฯ ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำมาเป็นลำดับจนปัจจุบัน สามารถบริหารจัดการน้ำได้ในระบบอ่างพวง ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริ ที่พระองค์ท่าน พระราชทานไว้ให้

160887569857

ที่มา : มูลนิธิชัยพัฒนา