การปกครอง วิถีใหม่ที่ 'กัลยาณิวัฒนา'
ทำความเข้าใจ "การปกครองวิถีใหม่" ที่ "กัลยาณิวัฒนา" ผ่านโมเดลการทำงานร่วมมือ หรือบูรณาการการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา และพัฒนาหมู่บ้านอย่างยั่งยืน
กัลยาณิวัฒนา อำเภอลำดับที่ 878 ของประเทศไทย ดินแดนแห่งป่าสนธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับการกล่าวขานให้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่นักเดินทางใฝ่ฝันใคร่ได้ไปสัมผัส และชื่นชมบรรยากาศป่าสนสลับสีอันสวยงามสุดพรรณนาสักครั้งหนึ่งในชีวิต
ความเป็นธรรมชาติทั้งทางทัศนียภาพอันตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงรายล้อมด้วยป่าสนธรรมชาติ ในบรรยากาศแสนสงบ ทั้งมีภูมิอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี กอปรกับการดำเนินวิถีชีวิตที่สามารถดำรงวัฒนธรรมชนเผ่าแบบดั้งเดิม เช่น กะเหรี่ยง ม้ง ลีซอ เป็นต้น ไว้ได้อย่างงดงามของอำเภอเล็กๆ แห่งนี้ นับเป็นเสน่ห์และมีมนต์ขลังให้ผู้คนอยากไปเยือน
หากย้อนกลับไปราวปี 2522 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของประชาชนชาวเขาในพื้นที่ ซึ่งมีอาชีพทำนาในพื้นที่ลุ่มระหว่างหุบเขา
มีการถางป่าทำไร่เลื่อนลอยในที่ดอน เส้นทางคมนาคมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียง จัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์” ส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการทำไร่เลื่อนลอย พัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้กับชุมชนเพื่อช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ราษฎรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์” นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวไฮไลท์สำคัญของอำเภอกัลยาณิวัฒนา
- ดูแลป่า ดูแลคน ให้อยู่เย็นเป็นสุข
พื้นที่แห่งนี้แยกมาจากตำบลแจ่มหลวง ตำบลบ้านจันทร์ และตำบลแม่แดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ รวมตั้งเป็นอำเภอกัลยาณิวัฒนา เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตามราชกฤษฎีกาในปี 2552 ที่กระทรวงมหาดไทยได้เสนอตั้งชื่ออำเภอตามพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระนาม และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ 12 อำเภอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Flagship ส่วนที่ 1 การส่งเสริมสถาบันหลักของชาติ โครงการที่ 3 การปกป้องเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ
เฉลิม สันนิธิรัตน์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่ละอุบ ต.แจ่มหลวง อ.กัลยาณิวัฒนา เล่าให้ฟังว่า “อำเภอกัลยาณิวัฒนาเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำสายหนึ่งที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำแม่ปิงและลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จุดกำเนิดของแม่น้ำแม่ปิงหรือแม่ระมิงค์ คือ แม่แจ่ม สายหลักอยู่ตรงนี้ การอนุรักษ์ทรัพยากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นสิ่งที่ชาวชุมชนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
“การจัดการดินน้ำป่า ในอำเภอกัลยานิวัฒนา เพื่อดูแลพื้นที่ทำกิน และป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งคงสภาพป่าให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ หากมีคนบุกรุกป่าเราจะไม่สามารถทราบได้ ทั้งนี้เราไม่ได้ทำคนเดียวแต่ทำภายใต้องค์กรภาคีขับเคลื่อนงานโดยมีกลไกสำคัญคือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย”
ด้วยการนำหลักในการบริหารจัดการหมู่บ้านโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.) มาร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ในด้านต่างๆ มีการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน จัดทำปฏิทินการพัฒนาหมู่บ้าน การจัดทำจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน มาใช้ในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผ่านเวทีประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งมีการจัดประชุมเป็นประจำทุกเดือน
- แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง
ธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมการปกครองตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุข จึงได้กำหนดให้โครงการสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน ตามแนวทางอุดมการณ์ “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) เป็น 1 ใน 10 โครงการสำคัญสู่การเป็น กรมการปกครอง วิถีใหม่ (10 Flagships to DOPA New Normal 2021)
ทั้งเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้หมู่บ้านเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในทุกมิติ และบรรลุถึงเป้าสุดท้ายในการพัฒนาประเทศ โดยกำหนดกรอบแนวคิดที่สำคัญ คือ หมู่บ้านมีความเข้มแข็งทั้งคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.) หรือคณะกรรมการกลางหมู่บ้าน อพป. ร่วมกับทุกภาคส่วน ใช้พลัง บวร/บรม (บ้านชุมชน/ศาสนสถาน-โรงเรียน-ส่วนราชการ) เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดในหมู่บ้าน/ชุมชน
หมู่บ้านแม่ละอุป ต.แจ่มหลวง อ.กัลยาณิวัฒนา ตั้งอยู่ในพื้นที่เชิงเขาตั้งอยู่ระหว่างหุบเขาที่สูงชันสลับซับซ้อน มีผลงานที่โดดเด่นมุ่งเน้นด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยบูรณาการความร่วมกับหน่วยงานราชการ และเอกชน ในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม การจัดระเบียบที่ทำกินเพื่อแยกพื้นที่ทำกินออกจากป่า สืบชะตาแม่น้ำและอนุรักษ์
รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือหรือบูรณาการการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาหมู่บ้านการป้องกันและการจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติดินถล่ม ภายใต้การบริหารจัดการหมู่บ้านโดยกลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน ในการสร้างสังคมอยู่เย็น เป็นสุข ตามแนวทางอุดมการณ์ “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น)
ปัจจุบันเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่รูปแบบประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” ในระดับอำเภอ มีการรวมกลุ่มของกลุ่มสตรีในหมู่บ้านในการทอผ้าลายประยุกต์ รวมถึงการรวมกลุ่มในการจัดทำโรงสีข้าวพลังน้ำสร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านเกิดความยั่งยืนสืบไป
“การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนหมู่บ้านต้องขึ้นอยู่กับวิถีถ้าหมู่บ้านไหนมีความเข้มแข็ง ปัญหาต่างๆ ในชุมชนนั้นๆ เขาจะสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ยกตัวอย่างว่า ถ้าหมู่บ้านไหนที่เขาเข้มแข็ง ปัญหายาเสพติดก็ไม่มี เขาก็อยู่กันอย่าง อยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้นการสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านเป็นเรื่องสำคัญเป็นพื้นฐานหลักของพี่น้องประชาชน
เพราะฉะนั้นตรงนั้นที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ต้องไปเร่งให้เกิดหมู่บ้านเหล่านี้ หรือชุมชนเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมากๆ เป้าประสงค์คือให้พี่น้องประชาชนทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น ซึ่งกรมการปกครองมีเป้าหมายให้ครบคลุมทั้ง 878 อำเภอในประเทศไทย เมื่อกรมการปกครองมีเป้าหมายอย่างนี้แล้ว ทุกคนที่ดำเนินงานก็จะมีวิถีที่จะไป
ในส่วนกลางก็คงจะแค่บังคับวิถีให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้นั้น เมื่อไปตามนั้นก็คงจะทำให้เกิดสุขกับพี่น้องประชาชน เพราะหน้าที่ของฝ่ายปกครอง คือ ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้นได้” นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครองกล่าว
- บ้าน วัด โรงเรียน พลังบวร
พระทศพล จิรวัฒโน เจ้าอาวาสวัดห้วยยา บ้านแม่ละอุบ กล่าวว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หลวงพ่อวัดปากน้ำดำริว่าให้นำโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เข้ามาในหมู่บ้าน สร้างเป็น “พลังบวร บ้าน วัด โรงเรียน และส่วนราชการทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน โดยเชิญผู้มีประสบการณ์เข้ามาให้ความรู้ด้านต่างๆ ในหมู่บ้าน ได้พบปะ แลกเปลี่ยนคุยกันในเรื่องการพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญก้าวหน้าในทางที่ดี
ตอนนี้พลังบวรของหมู่บ้านแห่งนี้ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกวัฒนธรรมจังหวัดด้วย ทางวัฒนธรรมจังหวัดได้เล็งเห็นว่าหมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวบ้านในอำเภอกัลยาณิวัฒนาส่วนใหญ่ทำนา และไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นสัมมาชีพดั้งเดิมตั้งแต่ปู่ย่าตายาย เลี้ยงลูกหลานมาได้ด้วยการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีฟื้นฟูดินไม่ใช่การทำลายป่า
ด้าน พิทักษ์ เพ็ญธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยยา ต.แจ่มหลวง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าโครงการ โคก หนอง นา ที่ทางชุมชนได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงไก่ นั้น ทางโรงเรียนได้ร่วมบูรณาการนำมาจัดให้มีโครงการอาหารปลอดภัยสำหรับเด็ก เพื่อลดการรับสารเคมีที่มากับพืชผักตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสอดแทรกความรู้ให้กับครูและเด็กนักเรียนให้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนปรัชญาพอเพียงพึ่งพาวิถีธรรมชาติให้คงอยู่
เฉลิม สันนิธิรัตน์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่ละอุป บอกหลักการในการทำงานว่า ทางชุมชนใช้แนวทางการพัฒนาไม่แบ่งฝักฝ่ายแต่มีแนวทางการนำปัญหามาสู่การร่วมกันแก้ไขให้ลุล่วง โดยใช้ภูมิปัญญาและการร่วมมือกันของคนในชุมชน รวมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ และเอกชนในการหาหนทางแก้ไปปัญหาและพัฒนาหมู่บ้าน ทั้งด้านการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืน การจัดระเบียบที่ทำกินเพื่อแยกพื้นที่ทำกินออกจากป่า สืบชะตาแม่น้ำและอนุรักษ์
รวมถึงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาหมู่บ้านการป้องกันและการจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติดินถล่ม ดังนั้นการอนุรักษ์ทรัพยากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าของชุมชนแห่งนี้
“ลูกหลานเอ๋ย อย่าได้โอ้อวด
อย่าได้ชื่นชม ยินดีบ้านเมืองเขา
เราจงรักษาบ้านเมืองของเราเอาไว้ อนาคตข้างหน้าจะได้อยู่ดีมีสุข”
กัลยาณิวัฒนา ดินแดนในฝัน ป่าสนพันปี ประเพณี วัฒนาธรรมบริสุทธิ์ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สามัคคี สมานฉันท์