รอยต่อ ‘กฎหมาย’ จากปี 63 สู่ 64

รอยต่อ ‘กฎหมาย’ จากปี 63 สู่ 64

จับตาทิศทางของกฎหมายไทยในปี 2564 ที่เป็นผลจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและสังคม รอยต่อสำคัญจากปี 2563 จะมีกฎหมายใดที่จะถูกเลือกการบังคับใช้ หรือที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 บ้าง?

ทุกฉบับสุดท้ายของสิ้นปี ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงทิศทางของกฎหมายที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งได้จัดเป็นหมวดหมู่ ดังนี้

1.กฎหมายที่ถูกเลื่อน/ขยาย และจะมีผลบังคับใช้ปี 2564 กลุ่มนี้จะเป็นกฎหมายที่ได้ประกาศใช้แล้ว แต่ได้เลื่อนหรือขยายการบังคับใช้ออกไปในปี 2564 เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่แม้จะประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2562 แต่ผลจาก พ.ร.ฎ. กำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วน พ.ศ.2562 

ส่งผลให้กฎหมายฉบับดังกล่าวเลื่อนการบังคับใช้ออกไป และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.2564 และกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งผลจากสถานการณ์โควิดในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ครม.จึงมีมติขยายระยะเวลาการบังคับใช้วงเงินการคุ้มครองเงินฝากจำนวน 5 ล้านบาท ซึ่งเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 10 ส.ค.2563 เป็นให้สิ้นสุดในวันที่ 10 ส.ค.2564 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2564 เป็นต้นไป วงเงินคุ้มครองเงินฝากจะปรับลดเหลือ 1 ล้านบาท

นอกจากกฎหมายที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ยังมีมาตรการต่างๆ ที่ขยายระยะเวลาเพื่อช่วยลดผลกระทบจากโควิดด้วยเช่นกัน เช่น ธปท.โดยคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เข้าโครงการ โดยการลดดอกเบี้ยและการพักชำระหนี้ออกไป จากเดิมที่ให้มีผลตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย.2563 ให้มีผลเป็นการขยายความช่วยเหลือจนถึง มิ.ย.2564 และบางมาตรการที่จะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.2563 อาจได้รับการพิจารณาเพื่อต่ออายุออกไป เช่น การขยายระยะเวลาในการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

2.กฎหมายที่มีการประกาศแล้วแต่จะเห็นผลชัดในปี 2564 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่กฎหมายได้บัญญัติรองรับกิจกรรมไว้แล้ว แต่อาจยังไม่มีผู้ได้รับใบอนุญาต หรือมีผู้ประกอบธุรกิจน้อยรายในปี 2563 เช่น ประกาศกระทรวงการคลังและประกาศ ธปท. เรื่องการประกอบธุรกิจ P2P Lending Platform ซึ่งในปัจจุบันแม้ยังไม่มีผู้ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังในการประกอบธุรกิจดังกล่าว แต่มีผู้ให้บริการระบบ P2P Lending Platform เข้าร่วมทดสอบอยู่ในแซนด์บอกซ์ของ ธปท.แล้วจำนวนหนึ่ง (3 ราย ข้อมูล ณ ก.ย.63)

นอกจากนี้ ในเดือน ก.ย.2563 จากการที่ ธปท.ได้ออกเกณฑ์ในเรื่องการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital lending) (ดอกเบี้ยไม่เกิน 25% ต่อปี วงเงิน 20,000 บาท ชำระคืนภายใน 6 เดือน) ซึ่งได้วางหลักการใช้ “เทคโนโลยี” ในการให้สินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ และให้ใช้ “ข้อมูลทางเลือก” หรือข้อมูลที่หลากหลายในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อ โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประวัติการให้สินเชื่อและการพิสูจน์รายได้ (เช่น ข้อมูลที่เก็บจากกิจกรรมออนไลน์) จึงส่งผลให้ทั้ง Bank และ Non-Bank ให้ความสนใจที่จะเปิดตลาดสินเชื่อในรูปแบบใหม่นี้ และคาดว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มมากขึ้นในปี 2564

สำหรับภาคหลักทรัพย์ ในเดือน ต.ค.2563 ได้มีการออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดกิจการอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประเภทของการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้รวมถึง “ธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “ธุรกิจที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” ต่อมา

ในเดือน ธ.ค.2563 ก.ล.ต.ยังได้ออกประกาศหลายฉบับเพื่อปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เหมาะสมและเป็นไปในทิศทางเดียวกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจซื้อขายล่วงหน้า โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2564 ตัวอย่างของเกณฑ์ที่ปรับปรุง เช่น เกณฑ์การกำหนดสัดส่วนการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ในระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (cold wallet), เกณฑ์การจัดการและจัดเก็บข้อมูลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และเกณฑ์การรายงานการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า หรือทำหน้าที่ติดต่อชักชวนลูกค้ามาให้ใช้บริการ (introducing broker agent) เป็นต้น

3.กฎหมายที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 เป็นกลุ่มของกฎหมายภาษีอากรที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่น ร่าง พ.ร.บ.การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) ซึ่งสภาได้มีมติเห็นชอบเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการต่างประเทศหรือดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ กฎหมายในกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากร เช่น FATCA และคาดว่ากฎหมายลำดับรองฉบับต่างๆ จะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปี 2564

4.กฎหมายกลุ่มอำนวยความสะดวกในสถานการณ์โควิด หากยังไม่คลี่คลาย หรือการระบาดกลับมาอีกระลอก อาจมีความจำเป็นในการตรา พ.ร.ก.ตามกลไกของรัฐธรรมนูญ (อย่างเช่นในปีนี้) ซึ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติของฝ่ายบริหารในการตรากฎหมายเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ในปี 2563 ได้มีการออกกฎหมายที่ช่วยอำนวยความสะดวกหากมีความจำเป็นในการดำเนินมาตรการ Social distancing ไว้แล้วจำนวนหนึ่ง เช่น พ.ร.ก.การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ที่ใช้ควบคู่กับประกาศกระทรวงดีอีเอส เรื่องมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ETDA เองยังมีบริการรับรองระบบควบคุมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Certification for e-Meeting) ที่ผู้สนใจสามารถขอเข้าตรวจประเมินระบบที่ใช้งานได้

นอกจากนี้ สำหรับศาล ผลกระทบจากโควิดที่ทำให้ศาลชั้นต้นทั่วประเทศจำเป็นต้องเลื่อนนัดพิจารณาคดีร่วม 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.2563) ส่งผลให้เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาได้มีการออก “ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563” เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับศาลในการพิจารณาคดีความผ่านช่องทางออนไลน์ได้

ดังนั้น ผู้เขียนขอสรุปโดยย่อว่าทิศทางของกฎหมายในปี 2564 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหลายๆ เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและสังคมในปี 2563 ซึ่งเป็นรอยต่อสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวไปสู่ปี 2564 อย่างมั่นคงด้วยกัน

ท้ายที่สุด สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าผู้อ่านทุกท่าน และพบกันใหม่ในปี 2564

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)