ย้อนรอย ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ โปรเจคสุดปัง...แต่เกือบพังเพราะกลโกง!
โปรเจคแห่งปี2563ของภาคท่องเที่ยวไทย ขอยกให้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ภายใต้แนวคิด“Co-Payment รัฐช่วยจ่าย”เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ดำเนินการโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารกรุงไทย
ล่าสุดมีการขยายระยะเวลาโครงการฯ จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค.2564 ไปสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.2564 ให้ครอบคลุมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นพีคซีซั่นที่คนไทยนิยมเดินทางสูงสุด หลังเริ่มเปิดให้คนไทยลงทะเบียนรับสิทธิบนเว็บไซต์เราเที่ยวด้วยกัน.com ได้แบบไม่จำกัดจำนวนเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2563 และสามารถเริ่มจองสิทธิที่พักได้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.2563 เป็นต้นมา
สำหรับสิทธิที่จะได้รับจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันมี 1.ส่วนลดค่าที่พัก รัฐช่วยจ่าย 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องหรือคืน กำหนดโควตาคนละ 15 ห้องหรือคืน เดิมมีจำนวนสิทธิ 5 ล้านคืน โดยทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้เพิ่มสิทธิใหม่อีก 1 ล้านคืนซึ่งเพิ่งเปิดให้มีการจองสิทธิวานนี้ (28 ธ.ค.) และข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ฯวานนี้ระบุว่าคงเหลือสิทธิที่พักประมาณ 8 แสนคืน
2.คูปองอาหารและท่องเที่ยวสูงสุดมูลค่า 900 บาทต่อวันในวันจันทร์-พฤหัสบดี และสูงสุด 600 บาทต่อวันในวันศุกร์-อาทิตย์ เพื่อใช้เป็นส่วนลดค่าอาหารและค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยรัฐช่วยจ่าย 40% ตัดจากคูปอง
และ 3.สิทธิรับเงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินในส่วนรัฐช่วยจ่าย 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อผู้โดยสาร (เฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวที่กำหนด) จำกัดห้องพักละ 2 ที่นั่ง ตามจำนวนห้องพักที่เข้าพักจริง แต่รวมไม่เกิน 30 ที่นั่ง โดยกำหนดจำนวนสิทธิตั๋วเครื่องบินทั้งหมด 2 ล้านสิทธิ จากข้อมูลล่าสุดบนเว็บไซต์ฯวานนี้ระบุว่ามีจำนวนสิทธิตั๋วเครื่องบินคงเหลือมากถึง 1.58 ล้านสิทธิ
หากย้อนไปเมื่อต้นเดือน มิ.ย.2563 ถึงที่มาของแนวคิดโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เกิดขึ้นจาก ททท.กับกระทรวงการคลังจัดเตรียมแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศให้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศคลี่คลาย ด้วยการกระจายการเดินทางให้กลับมาคึกคักในช่วงโลว์ซีซั่น ประคองกระแสการเดินทางให้ฟื้นตัวต่อเนื่องจนถึงช่วงไฮซีซั่นปลายปี ในสถานการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเป็นศูนย์เมื่อเดือน เม.ย.2563 ซึ่งเป็นผลพวงจากการล็อคดาวน์จำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด
นับเป็นการ “รับไม้ต่อ” จากมาตรการเยียวยาประชาชนผ่านโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือน มิ.ย.2563
โดยโครงการเราเที่ยวด้วยกันเป็น 1 ใน 2 โครงการภายใต้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว “เที่ยวปันสุข” ของรัฐบาล ร่วมกับโครงการกำลังใจ ซึ่งเปิดให้ อสม., อสส. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. จำนวนรวม 1.2 ล้านคน ท่องเที่ยวฟรี 100% โดยต้องใช้บริการของบริษัทนำเที่ยวในระบบที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 ม.ค.2563 ราคานำเที่ยว 2 วัน 1 คืน ไม่เกิน 2,000 บาทต่อคน กำหนดให้เริ่มเดินทางตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2563 - 31 ม.ค.2564
สำหรับกรอบวงเงินรวมของทั้ง 2 โครงการอยู่ที่ 2.24 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 2 หมื่นล้านบาท และวงเงินของโครงการกำลังใจ 2.4 พันล้านบาท
แม้โครงการเราเที่ยวด้วยกันจะติด “ท็อป 3” ของโครงการรัฐที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด แต่ก็มีดราม่าและปัญหาตามมาจนได้! เมื่อพบพฤติกรรมต้องสงสัยของผู้ประกอบการโรงแรม ร้านค้า และร้านอาหารบางรายเข้าข่ายกระทำผิดเงื่อนไข อาศัยช่องโหว่ทุจริตโครงการฯ
ก่อนหน้านี้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จำนวนโควตาห้องพัก 5 ล้านคืนแรกถูกใช้สิทธิหมดลงเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2563 ทั้งที่เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2563 ยังมีจำนวนสิทธิห้องพักคงเหลือ 225,922 คืน โดยการจองสิทธิที่หมดลงอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษอาจได้รับแรงหนุนจากดีมานด์ท่องเที่ยวสูงในช่วงไฮซีซั่น แต่ต้องตรวจสอบธุรกรรมเหล่านั้นว่ามีการกระทำผิดเข้าข่ายทุจริตโครงการฯหรือไม่
ส่งผลให้ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท.ต้องออกโรงแถลงด่วนเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ททท.ตรวจพบธุรกรรมต้องสงสัยกระทำผิดเงื่อนไขโครงการฯหลายรูปแบบซึ่งมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นโรงแรม ร้านค้า และประชาชนที่ร่วมขบวนการ พบว่ามีโรงแรมที่เข้าข่ายพฤติกรรมต้องสงสัยจำนวน 312 ราย ในส่วนของร้านค้าและร้านอาหารมี 202 ราย รวมทั้งหมด 514 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ!
โดยแบ่งออกเป็น 6 รูปแบบ ได้แก่ 1.เข้าพักโรงแรมราคาถูก (โฮสเทล) เช็คอินเข้าโรงแรมแต่ไม่เข้าพัก ได้ประโยชน์จากการใช้คูปอง โดยไปร้านค้าที่มีถุงเงินเพื่อสแกนใช้ โดยการจองมีทั้งผ่านและไม่ผ่านแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agent : OTA) 2.โรงแรมขึ้นราคาห้องพัก รู้เห็นเป็นใจกับร้านอาหารที่รับคูปอง (โรงแรมรับซื้อสิทธิ์) ไม่เกิดการเดินทางจริง โรงแรมมีถุงเงิน (ผู้ขายสิทธิ์เลขบัตรประชาชน 4 ตัวท้าย กับเบอร์การโทรในการให้ OTP) รับเฉพาะส่วนต่าง 40% (จองตรงกับโรงแรม)
3.โรงแรมมีตัวตน แต่ปิดทำการ แต่ยังมีการขายห้องพัก โดยมีทั้งผ่านและไม่ผ่าน OTA 4.ใช้ส่วนต่างคูปองเติมเงิน เพื่อให้ใช้คูปองที่ร้านนั้น 5.เข้าพักจริง เป็นกรุ๊ปเหมา ได้เงินทอน โดยทางโรงแรมรู้เห็น และมีการจองตรงกับโรงแรม และ 6.ขายจำนวนห้องพักเกินจริง (Overcapacity) เช่น โรงแรมมีห้องพักจำนวน 100 ห้อง แต่กลับเปิดขาย 300 ห้อง รวมทั้งมีการอัพเกรดให้ไปพักโรงแรมอื่นด้วย
“และเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ททท.ได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อมูลผู้เข้าข่ายกระทำความผิดในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ยืนยันว่าหากมีการทำผิดจริงทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือผู้ใช้สิทธิ จะดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เพราะโครงการเราเที่ยวด้วยกันถือเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจากเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติโควิด” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว