ไทยติดเชื้อ 'โควิด-19' รอบใหม่ 'เศรษฐกิจ-ลงทุน' ดิ่งเหวหรือไม่?
เปิดบทวิเคราะห์ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ลุกลามขยายวงกว้าง ทำให้ทางการไทยประกาศปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดือน เม.ย. สถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนไทยจะเป็นเช่นไร?
[บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2563]
ดังที่ทราบกันดีว่า ณ วันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในไทยพุ่งขึ้นทำลายสถิติสูงสุดในวันเดียว ทำให้ทางการออกมาตรการฉุกเฉินเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสาคร และอีก 8 จังหวัดใกล้เคียง เช่น สมุทรปราการ นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกรุงเทพ และทั้งประเทศในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดือน เม.ย.
คำถามคือ หากสถานการณ์ระบาดลุกลามขยายวงกว้างไป จนทำให้ทางการไทยประกาศปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับใกล้เคียงกับเดือน เม.ย. สถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนจะเป็นเช่นไร SCBS จึงได้ทำการศึกษาประสบการณ์การแพร่ระบาดระลอก 2 ในต่างประเทศ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศเหล่านั้น เพื่อเป็นนัยต่อประเทศไทย
งานวิจัยพบว่า หากไม่นับจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วง ม.ค. - ก.พ. ในจีน อาจกล่าวได้ว่าการแพร่ระบาดในประเทศใหญ่ๆ มี 3 รอบ โดยรอบแรกประมาณเดือน เม.ย. ที่จำนวนผู้ป่วยใหม่ทั้งในระดับโลก สหรัฐ เอเชีย รวมถึงไทย เพิ่มสูงขึ้นมาก (ยกเว้นในเกาหลีใต้ที่ระบาดมากช่วงเดือน มี.ค.) โดยจำนวนผู้ป่วยใหม่ในรอบ 7 วัน เพิ่มสูงขึ้นถึง 50-70% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดเป็นส่วนใหญ่ หลังจากนั้น จำนวนผู้ป่วยใหม่ค่อยๆ ปรับลดลง อันเป็นผลจากการปิดเมือง (Lockdown) ที่เข้มงวด
สำหรับการระบาดรอบ 2 อยู่ในช่วงเดือน ส.ค. ผลจากการกลับมาเปิดเมืองในช่วง พ.ค. - มิ.ย. อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ติดเชื้อใหม่จะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ติดเชื้อโดยรวมจะไม่สูงนัก คือประมาณ 10-20% (แต่เป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นในกรณีของสหรัฐ เนื่องจากเริ่มแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ แทนที่จะเป็นในเมืองใหญ่ ๆ เช่น นิวยอร์ก เช่นในรอบแรก) แต่ในไทย ไม่มีการระบาดรอบ 2 ในเดือน ส.ค. ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการ COVID ของไทยที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันนี้ หลายประเทศเริ่มมีการแพร่ระบาดรอบ 3 แล้วในเดือน ธ.ค. โดยอุณหภูมิที่หนาวเย็นขึ้นและการเปิดเมืองในช่วงก่อนหน้าเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ในไทยเป็นการระบาดรอบที่สอง
ในส่วนผลต่อเศรษฐกิจนั้น ในการระบาดรอบแรก การทำ Social Distancing และการปิดเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมากเนื่องจากประชาชนไม่ทันเตรียมตัว และทางการต้องปรับตัวก่อนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวมาก โดยในเดือนที่เกิดการระบาดรอบแรก หรือ 1 เดือนหลังจากนั้น ตัวเลขการค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเติบโตของ GDP หดตัวรุนแรง แต่เริ่มฟื้นขึ้นหลังจากนั้น
ขณะที่การระบาดรอบที่สอง ภาครัฐได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเอกชนเริ่มเตรียมการรับมือในระดับหนึ่ง ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่สูงนักเมื่อเทียบกับรอบแรก โดยเฉลี่ยอัตราการหดตัวในรอบที่สองจะเป็นครึ่งหนึ่งของรอบแรก ยกเว้นในสหรัฐและในเกาหลีใต้ที่ยอดค้าปลีกยังเป็นบวก เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนยังมีกำลังซื้อ
จึงเป็นไปได้ว่าในการระบาดรอบใหม่ของไทยครั้งนี้ หากรัฐบาลประกาศมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดขึ้นใกล้เคียงกับครั้งที่แล้ว รัฐบาลน่าจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2020 ต่อเนื่องไตรมาส 1/2021 หดตัวเท่ากับที่เราเคยคาดที่ประมาณ -8% และ -1% ตามลำดับ และทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2020-21 หดตัวที่ประมาณ -7% และฟื้นตัวที่ +3% ตามลำดับ
ในส่วนของทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น SCBS มองว่าในช่วงที่เหลือของปี 2020 การลงทุนมีโอกาสชะลอตัวลงแต่ไม่รุนแรงนัก โดยจากการศึกษาพฤติกรรมของตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีการระบาดรอบที่สอง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา เราพบว่า สัปดาห์ให้หลังจากเกิดการระบาดรอบที่สองตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดลงเฉลี่ย 2.4% ในสัปดาห์แรก และค่อย ๆ ฟื้นตัวในสัปดาห์ต่อมา ในขณะที่หลังจากเกิดการระบาด รอบสองครบ 1 เดือน ตลาดหุ้นทั้งสามสามารถปรับตัวขึ้นมาสูงกว่าจุดเกิดการระบาดได้ ผลทั้งจากมาตรการกระตุ้นและการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้การระบาดลดลง
ภาพดังกล่าวทำให้ SCBS มองว่า แม้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มว่าจะปรับลดลงในสัปดาห์แรก (ซึ่งเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ) แต่ในระยะต่อไป ดัชนีจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากในภาพรวม ปัจจัยด้านการลงทุนในระดับโลกระยะสั้นยังเป็นบวก ทั้งภาพการคิดค้นวัคซีน พัฒนาการการเมืองในสหรัฐที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ รวมถึงการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีไบเดน
ขณะที่ในส่วนของไทย หากภาครัฐมีมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวด ก็น่าจะมาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากมาตรการปัจจุบัน ทั้งช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง และการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภค ที่ทำได้รวดเร็วทั้งสิ้น
ในส่วนของรายอุตสาหกรรม SCBS มองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนภายในประเทศเช่น กลุ่มโรงแรม ศูนย์การค้า กลุ่มค้าปลีก กลุ่มสายการบิน กลุ่มขนส่งทางบกและทางรางและกลุ่มธนาคารอาจได้รับผลกระทบค่อนข้างแรง เมื่อเทียบกับกลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มอสังหาฯ และกลุ่มสื่อสาร ที่อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงรุนแรงมากนักหากการปิดเมืองไม่ได้เกิดขึ้นอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ เรายังคงมุมมองเดิมที่ว่า สถานการณ์การลงทุนโลกรวมและในไทยเองจะยังไปได้ดีในช่วงไตรมาสแรกจนถึงครึ่งแรกของปีจากปัจจัยบวกทั้งในระดับโลกและมาตรการกระตุ้นของไทย แต่ในครึ่งปีหลัง เป็นไปได้ที่ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การเมืองในสหรัฐ มาตรการการคลังในยุโรปที่มีปัญหา การแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า รวมถึงปัญหาในประเทศเช่น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากและภาคส่งออกและท่องเที่ยวที่ยังหดตัว จะกดดันผลประกอบการและการลงทุนโดยรวมในระยะต่อไป
COVID รอบสองไม่กระทบเศรษฐกิจและการลงทุนมากในระยะใกล้ แต่ในระยะไกลแล้ว ปัจจัยเสี่ยงระดับโลกต่างหากที่นักลงทุนไทยต้องจับตา