ไทยรับมือโควิด อย่าตกม้าตายวัคซีน
ไทย แม้อยู่ในกลุ่มที่รับมือโควิด-19 ได้ดี และมีความสามารถในการจัดการ กระทั่งเกิดกรณีสมุทรสาคร ในแง่ของผู้ติดเชื้อถือว่ายังไม่รุนแรงเท่าประเทศในยุโรป แต่ในแง่ของวัคซีนโควิด-19 ถือว่าไทยอยู่อันดับท้ายๆ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นเร่งต้องหาวัคซีนเพิ่มเติม
วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงทำลายล้างไปทั่วโลก ส่งผลให้ช่วงเวลาปีเก่าขึ้นปีใหม่ 2564 เกิดความวิตกกังวล แทนที่จะมีการเฉลิมฉลองกลายเป็นช่วงแห่งของการปรับตัว ผลกระทบรุนแรงเกิดขึ้นในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับจากครั้งแรกที่พบในประเทศจีน การกระจายไปอย่างรวดเร็ว หลายประเทศต้องล็อกดาวน์นานหลายเดือน แน่นอนกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดฮวบกระทบการเติบโตเป็นประวัติการณ์
รัฐบาลแต่ละประเทศล้วนใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เกิดแรงขับเคลื่อน ภาคเอกชนต้องหาทางพยุงกิจการเพื่อรอจังหวะการฟื้น ในปี 2564 อาจมีความคาดหวัง แต่สถานการณ์ล่าสุดคงอาจจะต้องรอถึงปี 2565 หลายสำนักมองว่าปี 2564 ยังเป็นช่วงฟื้นไข้ ดังนั้นมีโอกาสสูงมากที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเท่าระดับก่อนโควิด ต้องรอถึงปี 2565 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกยังคงติดลบ 4.4%
ปัจจัยยังอยู่บนความไม่แน่นอน แบ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ยังมีการล็อกดาวน์รอบใหม่เพื่อสกัดการติดเชื้อ ส่วนเขตเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาแนวโน้มกระจายวัคซีนได้ล่าช้า บั่นทอนการฟื้นตัวกิจกรรมเศรษฐกิจ แต่หากวัคซีนทั่วโลกเริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันนี้ไปทั่วโลก ถึงจะทำให้เศรษฐกิจโลกดูมีความหวัง วัคซีนจึงเป็นตัวแปรสำคัญ วันนี้บางประเทศเริ่มฉีดแล้ว อย่างในอาเซียน สิงคโปร์ได้เริ่มเข็มแรกไปแล้ว หลายประเทศมีไทม์ไลน์ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค.2564
กลับมาที่ประเทศไทยซึ่งหนีวงจรโควิดไม่พ้น แม้อยู่ในกลุ่มที่ป้องกันและรับมือโควิดได้ดีและมีความสามารถในการจัดการ กระทั่งเกิดกรณีสมุทรสาคร ซึ่งหากมองตัวเลขผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตถือว่ายังไม่รุนแรงเท่าประเทศในยุโรป แต่หากมองด้านการใช้วัคซีนต้องบอกว่าวันนี้เราอยู่อันดับท้ายๆ เราเห็นว่าภาครัฐต้องจริงจังกับการกำหนดวันที่คนไทยได้ใช้วัคซีน หากย้อนดูคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีในการแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 ระบุแค่เพียงว่าจะเร่งจัดหาและพัฒนาวัคซีนให้พร้อมใช้งานเร็วที่สุดเท่าที่จะเร่งได้ นายกฯ ยังไม่สามารถระบุเดือนที่ชัดเจน ระยะเวลาที่คืบหน้าในการได้รับวัคซีนจากแอสตราซิเนก้า ยังคงเป็นไทม์ไลน์เดิมคือเดือน มิ.ย.2564
เราเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องหาหนทางเพิ่มเติมในการจัดซื้อวัคซีน เราเห็นด้วยที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาตั้งข้อสังเกต รัฐบาลควรจะนำไปพิจารณาดำเนินการ ที่ นพ.ยงระบุว่าประเทศไทยยังล่าช้าในเรื่องวัคซีน เพราะอาจจะมุ่งอยู่กับวัคซีนไวรัส เวกเตอร์ของ AstraZeneca เพียงเจ้าเดียว ที่ยังทดลองไม่เสร็จและยังไม่มีประเทศไหนขึ้นทะเบียน รัฐบาลจึงไม่ควรยึดติดอยู่กับวัคซีนบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพราะขณะนี้มีวัคซีนให้เลือกหลายบริษัท ทั้งอเมริกา ยุโรปและจีน ทราบแล้วเปลี่ยน