'รีพับลิกัน'เสียงแตกเสี่ยงแผนเยียวยาโควิดสะดุด

'รีพับลิกัน'เสียงแตกเสี่ยงแผนเยียวยาโควิดสะดุด

'รีพับลิกัน'เสียงแตกเสี่ยงแผนเยียวยาโควิดสะดุด หลังผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน ขัดขวางการพิจารณาเพิ่มวงเงินในเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันเป็น 2,000 ดอลลาร์ จากเดิม 600 ดอลลาร์ของทรัมป์

ความขัดแย้งในประเด็นเพิ่มวงเงินในเช็คเงินสดแก่ชาวอเมริกัน ภายใต้มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ภายในพรรครีพับลิกันส่งสัญญาณลบแก่ตลาดทุนโดยตรง ล่าสุด "มิตช์ แมคคอนเนลล์" ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน ขัดขวางการพิจารณาเพิ่มวงเงินในเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันเป็น 2,000 ดอลลาร์ จากเดิม 600 ดอลลาร์

แมคคอนเนลล์ ตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาประเด็นดังกล่าว แม้เป็นข้อเรียกร้องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็ตาม ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เนื่องจากทั้งแมคคอนเนลและปธน.ทรัมป์ต่างก็สังกัดพรรครีพับลิกัน

แมคคอนเนลล์ ถือเป็นบุคคลสำคัญของวุฒิสภาสหรัฐในยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการผลักดันมาตรการต่างๆ ซึ่งรวมถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการจัดสรรงบประมาณชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานของรัฐบาล (ชัตดาวน์)

การขัดขวางการพิจารณาเพิ่มวงเงินในเช็คที่จะแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของแมคคอนเนลล์ เกิดขึ้นเกือบจะทันทีหลังจากที่ปธน.ทรัมป์ทวีตข้อความตำหนิบรรดาแกนนำพรรครีพับลิกันว่า อ่อนแอ และน่าเบื่อหน่าย หลังจากแกนนำเหล่านี้ดำเนินการล่าช้าในการลงมติเพื่อเพิ่มวงเงินในเช็คที่จะช่วยเหลือประชาชน และล่าช้าในการสนับสนุนการวีโต้ร่างงบประมาณด้านกลาโหมของเขา

นอกจากการขัดขวางกระบวนการพิจารณาในขั้นตอนของวุฒิสภาแล้ว แมคคอนเนลล์ยังเพิ่มเงื่อนไขเพื่อแลกกับข้อเสนอการเพิ่มวงเงินในเช็คให้กับประชาชน โดยเรียกร้องให้มีการตรวจสอบผลการเลือกตั้ง และจำกัดการปรับเปลี่ยนส่วนสำคัญในมาตรา 230 ของกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารที่เหมาะสม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ค

ปธน.ทรัมป์อ้างว่าบริษัทเหล่านี้ใช้กฎหมายมาตราดังกล่าวในการปราบปรามการแสดงความคิดเห็นในทางอนุรักษ์นิยม แต่แมคคอนเนลล์ ก็กล่าวว่า วุฒิสภาจะเริ่มกระบวนการพิจารณา 3 ประเด็นดังกล่าวในสัปดาห์นี้

ขณะที่ ความขัดแย้งทางการเมืองภายในพรรครีพับลิกันกำลังร้อนระอุ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในสหรัฐยังคงเลวร้าย ล่าสุด "มาร์ค เกลี" เลขาธิการสำนักงานสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศขยายเวลาในการบังคับใช้คำสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐแคลิฟอร์เนียออกไปอีกหลังผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้น

เกลี กล่าวว่า คำสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้านใน 11 เคาน์ตีของภูมิภาคแคลิฟอร์เนียตอนใต้ และซาน โจควิน วัลเลย์ ซึ่งประกอบด้วย 12 เคาน์ตีในตอนกลางของแคลิฟอร์เนีย ถูกขยายเวลาออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ทั้งนี้ คำสั่งเดิมที่มีระยะเวลา 3 สัปดาห์ สิ้นสุดลงเมื่อวันจันทร์ (28 ธ.ค.)ที่ผ่านมา ขณะที่ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยหนักในทั้ง 2 ภูมิภาคยังอยู่ที่ 0% นับจนถึงวันอังคาร (29 ธ.ค.)ที่ผ่านมา และในช่วงต้นเดือนนี้ เกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศแผนที่จะใช้คำสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้านเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยวัดจากความสามารถในการรองรับผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) ซึ่งลดต่ำกว่า 15%

แคลิฟอร์เนียตอนใต้และซาน โจควิน วัลเลย์ ซึ่งมีประชากร 33 ล้านคน ต้องใช้มาตรการให้ประชาชนอยู่กับบ้านตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. หลังความสามารถในการรองรับผู้ป่วยหนักในทั้ง 2 ภูมิภาคลดลงต่ำกว่า 15%

ขณะที่สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (เอเอพี) และสมาคมโรงพยาบาลเด็กของสหรัฐเปิดเผยว่า สหรัฐพบเด็กติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 2 ล้านรายแล้วนับตั้งแต่ไวรัสเริ่มแพร่ระบาดในประเทศ โดยข้อมูลจากเอเอพี ระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 24 ธ.ค. พบเด็กติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เกือบ 179,000 ราย

นับตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. สหรัฐพบเด็กติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 1 ล้านราย ขณะที่ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์นับตั้งแต่วันที่ 10-24 ธ.ค.พบว่า มีเด็กติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 22%

นอกจากนี้ รายงานยังเปิดเผยด้วยว่า เด็กๆคิดเป็นสัดส่วน 12.4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดภายในประเทศ ส่วนอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กนั้น อยู่ที่ 2,658 รายต่อประชากรเด็ก 100,000 ราย

เอเอพี ระบุว่า “ในเวลานี้ ดูเหมือนว่าแทบไม่พบอาการป่วยที่รุนแรงในกลุ่มเด็กๆ อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นเร่งด่วนในการรวบรวมข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวของโรคโควิด-19 ที่มีต่อเด็ก ซึ่งรวมถึงการที่ไวรัสอาจทำลายสุขภาพร่างกายในระยะยาวของเด็กที่ติดเชื้อ ตลอดจนผลกระทบทางอารมณ์และสุขภาพจิต”