เบื้องหลัง...ประเทศไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 รอบแรก!!

เบื้องหลัง...ประเทศไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 รอบแรก!!

ประเทศไทยเริ่มมีการระบาดระลอกในช่วงกลางเดือน มี.ค. อันมีเหตุจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อและสนามมวย ซึ่งเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อไปยังจังหวัดต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่า “ใครคือซูเปอร์สเปรดเดอร์”โดยใช้ระยะเวลาราว 2 เดือนสามารถควบคุมการระบาดไว้ได้

       จนมาถึงปลายปี 2563 เกิดการระบาดรอบใหม่ขึ้น สิ่งหนึ่งที่มีการถอดบทเรียนจากรอบแรกที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการหยุดการระบาด เป็นเพราะ “ทุกคนในไทยร่วมมือช่วยกัน”


เริ่มจาก 31 ธ.ค.2562เป็นครั้งแรกที่ประเทศจีนรายงานพบผู้ติดเชื้อปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นเชื้ออะไร นับตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2563 ประเทศไทยเปิดระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคโควิด-19ทันที ก่อนจะรายงานตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทยและประเทศแรกนอกประเทศจีน โดยเป็นหญิงชาวจีนที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น พร้อมกับที่ประเทศจีนรายงานชนิดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าวต่อนานาชาติว่าเป็น “ไวรัสโคโรนา2019” ต่อมาองค์การอนามัยโลก(ฮู)ประกาศชื่อโรคโควิด-19(COVID-19)

160938354170


รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวในการประชุมวิชาการประจำปี สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับเบื้องหลังความสำเร็จ.ว่า การที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19รอบแรกนั้น มีฝรั่งถามว่า “ประเทศไทยโชคดีหรือเก่ง” ซึ่งอยากจะฉายภาพให้เห็นว่าเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยดำเนินการสิ่งต่างๆต่อไปนี้


พัฒนาระบบโรคอุบัติใหม่อย่างต่อเนื่อง
เริ่มจากที่มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคอุบัติใหม่มาอย่างต่อเนื่อง ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน เกิดการระบาดของโรคซาร์สในฮ่องกงและแพร่กระจายทั่วโลก ในประเทศไทยมีป่วยทั้งสิ้น 9 คน เสียชีวิต 2 คน เป็นจุดที่กระตุ้นให้ประเทศไทยรู้เรื่องเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่เพิ่มมากขึ้น ในปี 2545-2555 บทเรียนจากไข้หวัดนก ประเทศไทยมีผู้ป่วย 25 คน เสียชีวิต 18 คน ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาทางการแพทย์อย่างมหาศาล เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์และสาธารณสุขในการต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่อย่างมาdที่สุด ทั้งโมบายแล็ป การเตรียมสถานที่ในการรักษา โดยมีการเขียนคู่มือเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่


ปี 2009 เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จุดเริ่มของการหาโปรแกรมวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยภาครัฐฟรีแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง จากที่ปกติไม่มีฟรี โดยประเทศไทยมีการใช้ปีละไม่ถึง 5 หมื่นโดส และเรื่อยมาจนปัจจุบันมีให้ประชาชนราว 4 ล้านโดสและจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งภาครัฐอยากจะเพิ่มการใช้มากขึ้น แต่ตนบอกให้ใจเย็นๆ เพราะหากวัคซีนเหลือมาก สตง.ก็จะมาตรวจสอบว่าทำไมวัคซีนเหลือมาก แต่ในปีที่ผ่านมามีการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 100 % ไม่มีเหลือ และเมอร์สโคโรนาไวรัส ในประเทศไทยพบผู้ป่วย 3 คน เป็นการนำเข้าทั้งหมด ไม่มีเสียชีวิตและโรคนี้น่าจะเป็นโรคท้องถิ่นของแถบตะวันออกกลางแล้ว


“มาถึงโรคโควิด-19 จะเป็นตัวพลิกผันของวงการแพทย์มากที่สุดในอนาคตอันใกล้นี้ โดยตอนนี้สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เจอคือเชื้อตัวนี้ส่วนใหญ่อยู่ในค้างคาวแม่ไก่ และในค้างคาวชนิดนี้ยังมีเชื้อโคโรนาไวรัสที่รอจู่โจมคนอีกเป็นสิบๆตัว ปัจจุบันเป็นเชื้อซาร์โควี 2 ไม่ช้าก็จะมีเชื้อซาร์สโควี 3, 4, 5 กำลังเรียงคิวเข้ามาเป็นเรื่องของธรรมชาติที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น”รศ.(พิเศษ)นพ.ทวีกล่าว


 ตื่นตัวเร็วล็อกดาวน์ทันเวลา
รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องนี้เร็ว โดยเริ่มดำเนินการวางแผนรับมือด้านต่างๆเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงกลางธ.ค.2562 ซึ่งต่อมาประเทศจีนมีคำสั่งห้ามไม่ให้เที่ยวบินออกจากประเทศจีน ซึ่งมีประโยชน์กับจีนในการลดติดโรคโควิด-19 เพียง 5 % แต่เกิดประโยชน์กับประเทศอื่นๆ ถึง 80 % รวมถึงประเทศไทยในการที่จะไม่รับเชื้อเข้ามาด้วย ซึ่งการปิดประเทศมีประโยชน์ คือ ลดค่าเฉลี่ยการแพร่เชื้อจาก 1 คนไปให้คนอื่น 3.8 คนในประเทศจีน ลดเหลือ 0.3 คน ลดลงประมาณ 10 เท่า

ประเทศไทยจึงต้องงัดการล็อกดาวน์มาใช้เมื่อยามจำเป็น โดยอิงตามข้อมูลสำนักระบาดวิทยาว่า การล็อกดาวน์อัตรการติดเชื้อต้องไม่เกิน 0.5ต่อแสนประชากรต่อวัน หรือต้องมีคนไทยติดสูงสุดไม่เกิน 350 คนต่อวัน แต่ช่วงที่มีการระบาดประเทศไทยมีคนติดสูงสุดวันละ 188 คน อัตราอยู่ที่ 0.02 ต่อแสนประชากรต่อวัน จึงเหมาะที่จะล็อกดาวน์ ขณะที่อังกฤษคุมที่ 0.76 และอเมริกาคุมที่ 4.25 ซึ่งช้าเกินไป


ประเทศไทยมีการใช้เบรกในช่วงจังหวะที่ดี ซึ่งการตัดสินใจที่รวดเร็ว แน่วแน่สำคัญมาก เมื่อฝ่ายการแพทย์ชงเรื่องเข้าไป ฝ่ายการเมืองก็ตัดสินใจว่าต้องล็อกดาวน์ ซึ่งก็ต้องเจ็บตัว”รศ.(พิเศษ)นพ.ทวีกล่าว

160938357532
เพราะคนไทยร่วมมือช่วยกัน
เบื้องหลังความสำเร็จของประเทศไทยในการควบคุมโรคโควิด-19ในรอบแรก รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี มองว่า เกิดจากการที่คนไทยร่วมมือช่วยกันอยู่บ้าน ใส่หน้ากาอนามัย/หน้ากากผ้า เว้นระยะห่างทางสังคม บุคลากรสาธารณสุขมีการตอบสนองการทำงานเร็วและช่วยกันทำงานอย่างเอาเป็นเอาตายร่วมกับหน่วยงานอื่นที่ร่วมกันทำงาน มีการเฝ้าระวังคนไข้และอสม.ในพื้นที่ดูแลใกล้ชิด จีนประกาศปิดประเทศและไทยประกาศปิดน่านฟ้า ทำให้มีการนำเข้าเชื้อน้อยและเมื่อเข้ามามาระบบกักตัว รวมถึง คุณูปการของผู้ใหญ่วงการแพทย์หลายท่านที่เป็นแกนหลักวางระบบในเรื่องต่างๆ อาทิ นพ.สุชาติ เจตนเสน ด้านระบาดวิทยา ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ด้านไวรัสวิทยาและคลินิก และนพ.อมร นนทสุต ดานระบบสาธารณสุขมูลฐานและอสม.


4 เสาหลักสู้โควิด-19
รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมี 4 เสาหลักของการแพทย์และสาธารณสุขในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ประกอบด้วย 1.ทีมระบาด ที่ไหนมีที่เดิน ทีมระบาดก็จะไปเพื่อสอบสวนควบคุมโรค 2.ทีมแพทย์ พยาบาล ที่ไหนมีผู้ป่วย ทีมคลินิกก็จะไป 3.ทีมแล็ป ซึ่งเป็นตัวชี้เป็นชี้ตาย เพราะถ้าไม่มีแล็ปจะตอบอะไรไม่ได้เลย จะงงอยู่แบบนี้ และแล็ปของประเทศไทยก้าวหน้ามาก กรณีโรคนี้ที่จุฬาฯสามารถตรวจเจอเชื้อไวรัสตัวนี้ได้ก่อนที่จีนจะรายงานว่าเป็นเชื้อชนิดไหน และ4.ทีมอสม.คอยจับตาดู ไปเคาะตามบ้านและเฝ้าระวัง ดูแลกลุ่มเสี่ยงในชุมชนหมู่บ้าน


แน่นอนว่า การระบาดในรอบใหม่จะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งมาตรการหลักในการควบคุมโรคในชุมชน คือ ประชาชนอย่าประมาท การ์ดอย่าตก ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากาก เว้นระยะ ทำความสะอาดจุดสัมผัสต่างๆ และอย่าให้แออัด ส่วนมาตรการต่อสู้กับโรค คือ 1. รู้เร็ว แพทย์ พยายาบาล นักระบาดทุกระดับพร้อมรับมือ แล็ปพร้อมรับมือในการตรวจพิสูจน์เชื้อต้นเหตุ มีเวชภัณฑ์ต่างๆพร้อม 2.รักษา ป้องกันเร็ว เจ้าหน้าที่พร้อมดูแลรักษา รพ.พร้อมรับมือ ยาพร้อมรักษา -ป้องกัน และ3.ควบคุมโรคเร็ว วัคซีนจำเพาะสำหรับบุคลากรและคนทั่วไป


ท้ายที่สุด รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี สรุปว่า เราเดินทาถึงวันนี้ได้ เพราะเราไม่เคยประมาทเชื้อโรค ประสบการณ์ของผู้อาวุโสในทุกด้านที่มีการจัดทำพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีสัมผัสที่ 6ของสัญญาณอันตรายจากโรคระบาด วินัยของผู้ปฏิบัติงาน ประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ รอบด้านตามกำลังทรัพยากรเท่าที่มี มี 4 แกนหลัก และประชาชนให้ความร่มมือ เชื่อมั่นและปฏิบัติตาม


“ที่เราแตกต่างจากบางประเทศในยุโรปและอเมริกา คือ การแพทย์นำการเมือง เมื่อไหร่การเมืองนำการแพทย์คือหายนะ”รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว