'บทสรุปปี 63' กับ 5 ประเด็นสำคัญระดับโลก
เข้าสู่วันสุดท้ายของปี 2563 ทั่วโลกเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญมากมาย แน่นอนว่า ประเด็นใหญ่ที่สุดคือ การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน แต่ก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมที่กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกเช่นกัน
1. โรคโควิด-19 ระบาดใหญ่ทั่วโลก
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็น “การระบาดใหญ่”
ข้อมูลของ Worldometers ระบุว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. โลกมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมกว่า 83 ล้านราย เสียชีวิตแล้วกว่า 1.8 ล้านราย ผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ความสูญเสียมหาศาล และสารพัดอุปสรรคที่ยากต่อการป้องกันและควบคุม ทำให้การระบาดใหญ่ของโรคนี้กลายเป็นวิกฤติสาธารณสุขระดับโลก ที่เคยเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติทางสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ทำให้รัฐบาลและประชาชนในหลายประเทศหันร่วมมือกันต่อสู้กับการระบาด
2. ความขัดแย้งเชื้อชาติสะท้อนปัญหาฝังลึกในสหรัฐ
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. จอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเสียชีวิตลงหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดลำคอของเขาลงกับพื้นนานเกือบ 9 นาที เหตุการณ์นี้จุดประกายการประท้วงขนานใหญ่ยืดเยื้อทั่วสหรัฐ เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและพฤติกรรมโหดร้ายของตำรวจ
ตั้งแต่นั้นมามีการเปิดโปงกรณีการใช้ความรุนแรงกับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวอย่างต่อเนื่อง และมีการยกระดับการประท้วงต้านการเหยียดเชื้อชาติ “ชีวิตคนดำก็มีค่า” (Black Lives Matter) กลายเป็นหนึ่งในวลีที่โด่งดังที่สุดของปี 2563
ข้อเท็จจริงเผยให้เห็นว่า แนวคิดคนขาวเป็นใหญ่ในสหรัฐ ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย ความขัดแย้งทางเชื้อชาติยากจะไกล่เกลี่ย การแบ่งแยกทางสังคมขยายวงกว้าง ซึ่งล้วนส่อถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนและการเหยียดเชื้อชาติเชิงระบบที่เกิดขึ้นในสหรัฐ
3. เศรษฐกิจโลกสะเทือน-ถดถอยหนัก
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกซึ่งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 4.4% ในปี 2563 เนื่องจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ประกอบกับปัจจัยเชิงลบอื่น ๆ
ขณะที่การระบาดได้ลุกลามเป็นวงกว้าง ทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ช่วงทศวรรษที่ 30 ทั้งยังเจอปัญหาจากความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มาจากการระบาดของโรค และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวอย่างมั่นคงได้ในเร็ววัน
ช่วงเวลานี้มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น 5จี (5G) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีด้านเมืองอัจฉริยะ รวมถึงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจแบบไร้การสัมผัส เช่น การซื้อสินค้า-การศึกษาทางออนไลน์ และการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ซึ่งสร้างหนทางใหม่ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ
4. ลงนาม "RCEP" หนุนความร่วมมือพหุภาคี
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. กลุ่ม 15 ประเทศ ประกอบด้วย 10 กลุ่มประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) พร้อมจัดตั้งกลุ่มความตกลงการค้าเสรีที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก มีโครงสร้างสมาชิกที่หลากหลายที่สุด และมีศักยภาพการพัฒนาสูงสุด
ความตกลงข้างต้นเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดกว้างอย่างมาก ในด้านการค้าสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนในหมู่ประเทศสมาชิก ยกระดับเสรีภาพทางการค้าและการลงทุน และเสริมสร้างแรงดึงดูดและความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค ทั้งส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ขณะเดียวกันยังเป็นแรงกระตุ้นใหม่ในการเติบโตของโลก
5. ดีลหลัง "เบร็กซิท" ที่อาจเจ็บตัวสองฝ่าย
หลังการเจรจาที่ซับซ้อนยืดเยื้อนาน 9 เดือน ในที่สุดสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (อียู) ได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรี เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ข้อตกลงนี้จะควบคุมดูแลความสัมพันธ์ทางการค้าและความมั่นคงระหว่างสองฝ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564
ข้อตกลงนี้จะสร้างความมั่นคงให้แก่ความร่วมมือในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู เพื่อเลี่ยงสถานการณ์เสียหายทั้งสองฝ่าย อันเกิดขึ้นจากการถอนตัวจากอียูโดยไร้ข้อตกลงของสหราชอาณาจักร หรือที่เรียกว่า "เบร็กซิท"
เบร็กซิทสร้างความเปลี่ยนแปลงต่ออียู และจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงด้านการเมืองและเศรษฐกิจของโลก นานาประเทศล้วนจับตาดูความเป็นไปของความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูหลังจากการถอนตัวครั้งนี้
ที่มา: ซินหัว