กูรูตลาดเงินประสานเสียงปี 64 เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง จากเทรนด์ดอลลาร์อ่อนค่า หนุนฟันด์โฟลว์ไหลเข้า “กรุงไทย” คาดไม่น้อยกว่า 1 แสนล้าน กดดันบาทแข็ง 28.50 บาทต่อดอลลาร์ “ซีไอเอ็มบี” แนะผู้ส่งออกป้องความเสี่ยงค่าเงิน
จากสถานการณ์ “เงินบาทเปลี่ยนทิศ” ในปี 2563ที่อ่อนค่าต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ถึงเดือน เม.ย.ที่อ่อนค่าสูงสุดระดับ 33 .18 บาทต่อดอลลาร์ เป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบปี เพราะโควิด-19 ทำให้ไทยล็อกดาวน์ทั่วประเทศ แต่เมื่อเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์นั้น เงินบาทเริ่มปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง
ประกอบกับช่วงนั้นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อัดเงินจำนวนมากกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งสัญญาผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดขานรับเชิงบวกต่อผลการเลือกตั้งสหรัฐที่ได้ “โจ ไบเดน” เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ และหลายบริษัทรายงานความสำเร็จของยาต้านโควิด-19 ยิ่งหนุนให้มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย โดยเฉพาะไทยต่อเนื่อง
สถานการณ์นี้ทำให้เดือน พ.ย.2563 เงินบาทกลับมาแข็งค่าสุดที่ 29.79 บาทต่อดอลลาร์ สูงสุดรอบ 7 ปี ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณคุมอัตราแลกเปลี่ยนลดบาทแข็ง แต่การเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอาจทำได้จำกัดขึ้น ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยแกว่งตัว 29.80-30.30 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันทำการสิ้นสุดของปี 2563
ส่วนทิศทางค่าเงินบาทปี 2564 “นักบริหารเงินสถาบันการเงิน” ส่วนใหญ่มองว่า “เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง” จากประเด็นหลัก คือ “ดอลลาร์อ่อนค่าช่วงเริ่มวัฏจักรใหม่ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังโควิด-19 จากนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง”
ด้านปัจจัยเสี่ยงต่อเงินบาทที่ต้องระวังมากสุด คือ โควิด-19 ระบาดรอบใหม่ในไทย ,การกลายพันธุ์ในต่างประเทศ ,การตอบรับของตลาดกับข่าวยาต้านไวรัส ,เศรษฐกิจในประเทศรวมถึงการควบคุมไวรัสในไทย , บอนด์ยีลด์สหรัฐที่อาจปรับสูงขึ้นจนกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง
ปัจจัยเหล่านี้หากขาดความชัดเจนจะฉุดฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินทั่วโลก พร้อม “แนะผู้ประกอบการรับมือบาทแข็ง” ควรศึกษาเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเพิ่ม และใช้กลยุทธ์ Forward ผสม Options ที่หลากหลายช่วยผู้ประกอบการได้กรณีค่าเงินบาทไม่เคลื่อนไหวอย่างที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มอง หรืออาจกู้ช่วงดอกเบี้ยต่ำเพื่อธุรกิจระยะยาว แต่ผู้ส่งออกต้องพร้อมรับการอ่อนค่าของดอลลาร์ จึงควรประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ส่วนใหญ่ และอาจใช้สกุลเงินประเทศคู่ค้าแทน
มาตรการ ธปท.คุมได้จำกัด
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่า ปีนี้เงินบาทเคลื่อนไหว 29.00-30.50 บาทต่อดอลลาร์ และปลายปีจะแตะ 29.25 ต่อดอลลาร์ โดยแข็งค่าขึ้นบนพื้นฐานดอลลาร์อ่อนค่าจากแรงกดดันทางนโยบายการเงิน การคลังและการค้าของสหรัฐที่ผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายการค้ายุค โจ ไบเดน แม้ไม่ลดภาษีนำเข้า แต่สงครามการค้ากับจีนมีแนวโน้มลดเผชิญหน้า จะส่งผลบวกต่อการค้าโลก ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าในสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่รวมถึงสกุลเงินบาท
ทั้งนี้ แม้ไทยมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ซึ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติมองว่า มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงแรง แต่นักลงทุนจะใช้กลยุทธ์ “Selective Buy” เช่นกัน ซึ่งไทยจะได้รับอานิสงส์มากเท่าใดขึ้นกับคุณภาพการฟื้นตัว ,โครงสร้างเศรษฐกิจ, และเสถียรภาพรัฐบาล นอกจากนี้ การดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของทางการไทยอาจทำได้จำกัดหลังกระทรวงการคลังสหรัฐ เพิ่มไทยในบัญชีที่ต้องจับตามองใกล้ชิดสำหรับกลุ่มประเทศที่เข้าข่ายบิดเบือนค่าเงิน
คาดฟันด์โฟลด์ทะลุแสนล้าน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าปี 2564 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องเคลื่อนไหวช่วง 28.50 - 30.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยอาจหลุด 29.00 บาทต่อดอลลาร์ ช่วงครึ่งหลังปีนี้ และแตะระดับ 28.50 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี2564 จากแนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ (ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY) อย่างน้อย 4%
รวมถึงปัจจัยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3-4% ของจีดีพี จากดุลการค้าเกินดุล 3 แสนล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างน้อย 4.4 ล้านคนในครึ่งปีหลัง และเงินบาทแข็งค่าได้รับแรงหนุนจากเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่อาจไหลกลับเข้ามาสุทธิไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท ในปีนี้หลังนักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิ สินทรัพย์ไทยเกือบ 3 แสนล้านบาทในปี2563
จับตาต้นปี 29.20 บาท/ดอลลาร์
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด มองว่า 3 ธีมเงินบาทปี 2564 เป็นภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแม้ไทยไม่ใช่จุดหมายแรกของนักลงทุน แต่ได้รับแรงหนุนจากตลาดหุ้นที่ฟื้นตัว ,การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่น้อยลง เพราะแทบทุกธนาคารกลางหลักใช้นโยบายดอกเบี้ยใกล้ 0% จึงทำให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนกลับทิศได้ยาก สุดท้ายการอ่อนค่าของดอลลาร์มักเกิดขึ้นหลังวิกฤติ คาดมีช่วง 9-12 เดือน หนุนเงินบาทให้แข็งค่าถึงสิ้นไตรมาส 1
สำหรับไตรมาส 1 คาดว่าเงินบาทจะแตะ 29.20 บาทต่อดอลลาร์ เพราะเป็นช่วงที่นักลงทุนและผู้ส่งออกกลับสู่ตลาด ถ้าไม่นับปี 2563 พบว่า เงินบาทจะแข็งค่าช่วงไตรมาสนี้ทุกปีต่อเนื่อง 8 ปี จากนั้นตลาดจะชินข่าวกระตุ้นเศรษฐกิจและจะแกว่งตัว 28.90-30.30 บาทต่อดอลลาร์ และจะแข็งค่าอีกปลายปีที่ประชากรโลกรับวัคซีนเกิน 70%
ส่วนกระแสเงินทุนต่างชาติปีนี้ จะมีเงินทุนไหลเข้า 5,000-10,000 ล้านดอลลาร์ นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจหุ้นและบอนด์ไทยมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัว แต่ยังมีกระแสการปรับสัดส่วนลงทุนในจีนกดดัน จึงมองว่าโดยรวมอาจหักกลบกันหมดในฝั่งหุ้น แต่ฝั่งบอนด์ยังมีนักลงทุนต่างชาติสนใจ เพราะบอนด์ไทยผันผวนต่ำและเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
“ซีไอเอ็มบี”ห่วงฉุดส่งออกฟื้นช้า
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า ปี 2564 เงินบาทที่แข็งค่าได้ถึง 6% จากปลายปีที่แล้ว หรือไปแตะระดับ 28.60 บาทต่อดอลลาร์ ปลายปี 2564 อาจมีผลให้การส่งออกสินค้าเติบโตช้าลง แม้การส่งออกรูปดอลลาร์ยังบวกตามความต้องการตลาดโลก บาทที่แข็งค่าเร็วและแรงอาจเป็นไปได้ยาก แต่หากดูการเคลื่อนไหวเงินบาทหลังวิกฤติการเงินโลกปี 2551 ช่วงเฟดทำ QE เราอาจเห็นเงินร้อนท่วมตลาดเกิดใหม่อีกรอบ ผู้ส่งออกอาจหาผลิตภัณฑ์การเงินป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน
แม้เศรษฐกิจปีกำลังฟื้นตัวดีผ่านการส่งออกสินค้า แต่ปัจจัยเสี่ยง คือ เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าเทียบดอลลาร์ และอาจแข็งค่าเทียบประเทศคู่ค้ารายอื่นของไทยด้วย โดยเงินบาทแข็งค่ามาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.การเกินดุลการค้ามากขึ้นและการนำเข้าเครื่องจักรไม่เติบโตตามการลงทุนเอกชนที่ฟื้นช้า
2.กระแสเงินไหลเข้าตลาดทุนมากขึ้น ทั้งจากคลายกังวลวิกฤติเศรษฐกิจ จากสภาพคล่องที่ล้นระบบในสหรัฐและหลายประเทศ ส่งผลให้เงินลงทุนเก็งกำไรจากไหลเข้าตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย ซึ่งเงินร้อนหรือเงินลงทุนหวังกำไรระยะสั้นนี้ ประกอบกับปัจจัยที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องมีส่วนสำคัญให้เงินบาทแข็งค่าเร็วในปีนี้
ห่วงดอลลาร์อ่อน-เกินดุลบัญชี
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงในทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องปี 2564 ระดับ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์ จากชัยชนะของโจ ไบเดน หนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าสอดคล้องกับ การประเมินระยะต่อไปดอลลาร์มีทิศทางอ่อนค่าจากมาตรการอัดฉีดนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะเฟด และเศรษฐกิจโลกที่กลับมาขยายตัวหนุนเงินทุนไหลเข้า เอเชียและไทย
ประกอบกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเรื้อรังทำให้เงินบาทแข็งค่า จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูงที่ระดับ 18,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 แม้ลดลงจากปีก่อนที่ระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ ธปท.มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยไตรมาส 1 แต่จะช่วยลดแรงกดดันบาทแข็งได้จำกัด