"กมธ.ร่างกฎหมายทำแท้ง" มั่นใจทำงานทันเวลา ตามกรอบต้องใช้ 12 กุมภาพันธ์
รองประธานกมธ.แก้กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง เผยความคืบหน้า พร้อมมั่นใจร่างกฎหมายเสร็จทันใช้ กุมภาพันธ์ นี้
น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาตรา 301 ว่าด้วยรายละเอียดของการทำแท้ง แถลงที่รัฐสภา ถึงความคืบหน้าการพิจารณาว่า ที่ประชุมกมธ.พิจารณาแล้ว 4 ครั้งและอยู่ระหว่างการพิจารณาลงรายมาตรา ทั้งนี้ได้พิจารณาตามเนื้อหาร่างกฎหมายฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นหลัก ส่วนรายละเอียดของเนื้อหาที่ระบุถึงการอนุญาตให้ทำแท้งบุตรในครรภ์ได้ เมื่ออายุครรภ์เท่าใดนั้น ได้ข้อสรุป คือ ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ เพราะได้คำนึงถึงความปลอดภัยที่สุดของหญิงตั้งครรภ์ที่จะยุติการตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์ยังไม่มีเนื้อหรือร่างกาย ส่วนกรณีผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"ขอย้ำว่าไม่มีการทำแท้งเสรีหรือยุติการตั้งครรภ์แบบเสรี มีแต่การยินยอมให้ยุติการตั้งครรภ์แบบมีเงื่อนไข ซึ่งในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เปิดช่องทางให้เสรีภาพต่อหญิงในการยุติการตั้งครรภ์ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้เช่นเดียวกัน โดยคณะ กมธ. เห็นว่าไม่มีหญิงคนใดที่ต้องการท้องเพื่อที่จะไปทำแท้ง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงสาธารณสุขควรมีมาตรการในการช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องมีความเข้าใจว่าผู้หญิงต้องไม่ถูกกระทำซ้ำทั้งทางวาจาและท่าทาง รวมไปถึงจุดให้บริการสายด่วน ต้องจัดเจ้าหน้าที่ที่มีความเข้าใจปัญหานี้เข้ามาทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือ" น.ส.ธณิกานต์ กล่าว
น.ส.ธณิกานต์ กล่าวด้วยว่า สำหรับร่างแก้ไขมาตรา 305 ที่สาระกำหนดบทยกเว้นความผิดของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมกรณีที่ทำแท้งหญิงตั้งครรภ์นั้น กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่าแพทยสภาจะต้องเร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้สอดรับกับบทบัญญัติในมาตรา 301 ของประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่กำลังแก้ไขเพิ่มเติมนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขควรเร่งดำเนินการ รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำความเข้าใจ, พัฒนางานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหญิงยุติการตั้งครรภ์ หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกมีความชัดเจนและต่อเนื่อง
น.ส.ธณิกานต์ กล่าวด้วยว่ากมธ.ฯ ยังนัดประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 6 มกราคม จะเชิญผู้ที่ยื่นคำแปรญัตติเข้าร่วมประชุม และคาดว่าการพิจารณาของกมธ.ฯ จะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ และเมื่อประชุมสภาผู้แทนราษฎรสามารถทำได้ วาระร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาทันที ส่วนตัวเชื่อว่าการพิจารณาร่างกฎหมายที่ต้องเร่งดำเนินการให้ทันตามกรอบเวลาวันที่ 12 กุมภาพันธ์นั้นยังทันตามเวลา เพื่อไม่ให้เกิดสูญญากาศทางกฎหมาย และเมื่อผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ แล้วต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป.