บทบัญญัติที่ 25 'เครื่องมือพิฆาตทรัมป์'
สภาคองเกรสสหรัฐรับรอง “โจ ไบเดน” เป็นประธานาธิบดี หลังเกิดเหตุม็อบหนุนทรัมป์บุกสภา ขัดขวางการนับคะแนน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน ส่วนทรัมป์จ่อถูกถอดถอนก่อนหมดวาระ
เมื่อเช้าตรู่วันพฤหัสบดี (7 ม.ค.) ตามเวลาสหรัฐ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างลงมติอย่างท่วมท้น คัดค้านคำร้องของ ส.ส.รีพับลิกันจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ยอมรับผลการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งให้นายโจ ไบเดน ชนะในรัฐแอริโซนาและเพนซิลเวเนีย
ผลการนับคะแนนไบเดน จากพรรคเดโมแครต และนางคามาลา แฮร์ริส คู่ชิงรองประธานาธิบดี ได้คะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง 306 เสียง เกินเกณฑ์ที่ต้องการ 36 เสียง คว้าชัยชนะสู่ทำเนียบขาว ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกันได้ 232 เสียง
รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ อ่านผลการนับคะแนนเมื่อเวลา 3.40 น.โดยประมาณ เหล่า ส.ส. ส.ว. ปรบมืออย่างกึกก้อง เพนซ์สั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 3.44 น.
หลังจากนั้นไม่นานนายแดน สกาวิโน ผู้ช่วยหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายสื่อสารของทรัมป์อ่านแถลงการณ์ประธานาธิบดี ระบุ “การเปลี่ยนผ่านในวันที่ 20 ม.ค.จะเป็นไปอย่างมีระเบียบ”
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญสหรัฐกำหนดให้สภาคองเกรสเป็นผู้รับรองผลคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง
กระบวนการนับคะแนนเริ่มต้นตั้งแต่บ่ายวันพุธ (6 ม.ค.) แต่ต้องชะงักไปราว 6 ชั่วโมง เมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์บุกสภาด้วยอารมณ์โกรธแค้นที่ทรัมป์แพ้เลือกตั้งเพราะถูกโกง
เหตุจลาจลทำให้มีผู้ประท้วงหญิง 1 คน ถูกตำรวจสภายิงเสียชีวิต และอีก 3 คนเสียชีวิตจากเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์
ตกกลางคืนทั้งสองสภาต่างกลับมาประชุมและอภิปรายกันอย่างเข้มข้นจนสามารถรับรองชัยชนะของไบเดนได้ในที่สุด
เหตุผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์บุกอาคารรัฐสภา กระตุ้นให้ส.ส.จำนวนหนึ่งเรียกร้องถอดถอนทรัมป์ก่อนไบเดนสาบานตน 20 ม.ค.
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การถอดถอนทรัมป์ก่อนหมดวาระมี 2 วิธี ได้แก่ ใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 กับกระบวนการถอดถอน (อิมพีชเมนท์) โดย ส.ว.เป็นผู้ตัดสิน ทั้งสองวิธีรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ จะเป็นผู้รักษาการจนกว่าไบเดนสาบานตนเป็นประธานาธิบดี
แหล่งข่าววงในรายหนึ่งเผยว่า คณะรัฐมนตรีและพันธมิตรทรัมป์บางคนเริ่มหารือเรื่องการใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 ที่ผ่านการลงสัตยาบันในปี 2510 หลังประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ถูกลอบสังหารในปี 2506 บทบัญญัตินี้เกี่ยวข้องกับการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีและเมื่อประธานาธิบดีปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ โดยมาตรา 4 ระบุถึงกรณีที่ประธานาธิบดีทำหน้าที่ไม่ได้แต่ไม่ยินยอมลงจากตำแหน่ง
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การร่างบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 มีเจตนาชัดเจนให้ใช้เมื่อประธานาธิบดีไร้ความสามารถจากการเจ็บป่วยทางกายหรือทางใจ นักวิชาการบางคนโต้แย้งว่า อาจนำไปใช้ในกรณีที่ประธานาธิบดีไม่เหมาะสมต่อการทำหน้าที่เป็นอย่างยิ่งด้วย
เมื่อใช้บทบัญญัติที่ 25 เพนซ์และคณะรัฐมนตรีทรัมป์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องประกาศว่า ทรัมป์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีได้ต้องถูกถอดถอน จากนั้นเพนซ์รักษาการประธานาธิบดี แต่ทรัมป์ก็ประกาศได้ว่าตนเองสามารถกลับมารับตำแหน่งได้ ถ้าเพนซ์และ ครม.ส่วนใหญ่ไม่คัดค้านทรัมป์ก็กลับสู่อำนาจอีก แต่ถ้าครม.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ต้องให้สภาคองเกรสตัดสิน ระหว่างนั้นเพนซ์ยังรักษาการประธานาธิบดีต่อไป
นายพอล แคมพอส อาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยโคโลราโด กล่าวว่าการปลดทรัมป์ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา แต่สภาผู้แทนราษฎรที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากอาจชลอการลงมติไปพิจารณาเรื่องอื่นที่สำคัญจนกระทั่งทรัมป์หมดวาระ
แคมพอสย้ำว่า การใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 อาจเป็นวิธีเหมาะสมในการปลดทรัมป์ออกจากตำแหน่ง และทำได้เร็วกว่าอิมพีชเมนท์
“วิธีนี้เพนซ์เป็นประธานาธิบดีได้โดยอัตโนมัติเลย แต่ถ้าใช้อิมพีชเมนท์ให้ ส.ว.ตัดสินอาจใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 วัน” นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญกล่าว
ส่วนการอิมพีชเมนท์รอยเตอร์ระบุว่า หลายคนเข้าใจผิดว่าหมายถึงการถอดถอนประธานาธิบดี จริงๆ แล้วหมายถึงการที่สภาผู้แทนราษฎรกล่าวหาประธานาธิบดีกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการคล้ายๆ กับคำฟ้องในคดีอาญา
ถ้าเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวน 435 คนเห็นชอบให้กล่าวหาที่เรียกว่า “บทบัญญัติการถอดถอน” กระบวนการจึงเข้าสู่วุฒิสภา ที่ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 ถอดถอนประธานาธิบดี
ทรัมป์เคยถูกสภาผู้แทนที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากยื่นถอดถอนมาแล้วในเดือน ธ.ค.2562 ในข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบและขัดขวางรัฐธรรมนูญ กรณีที่เขาพยายามกดดันยูเครนให้สอบสวนไบเดนและบุตรชาย แต่ทรัมป์ก็รอดในชั้นวุฒิสภาที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดที่อาจทำให้ทรัมป์ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการนั้น นายแฟรงค์ บาวแมน อาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยมิสซูรี กล่าวว่า เป็นไปได้ว่าทรัมป์สนับสนุนการปลุกระดมหรือพยายามโค่นล้มรัฐบาลสหรัฐ แต่ทรัมป์ก็อาจถูกถอดถอนจากความผิดพื้นๆเช่น ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถปฏิบัติตามคำปฏิญาณตอนรับตำแหน่ง ซึ่งสภาคองเกรสเป็นผู้นิยามการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นคดีอาญาจริงๆ
บาวแมนย้ำว่า ความผิดสำคัญที่ทรัมป์อาจโดนคือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พยายามทำลายผลการเลือกตั้งที่ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย
และแม้ทั้งโลกจะประณามเหตุม็อบบุกสภา แต่สื่ออนุรักษนิยมอย่างฟอกซ์นิวส์กลับสวนกระแส อ้างผู้ประท้วงทำไปเพราะโกรธนักการเมืองหน้าเก่า พร้อมกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานว่า ฝ่ายซ้ายแทรกซึมเข้าไปในม็อบ
นายเควิน คอร์ค ผู้สื่อข่าวฟอกซ์นิวส์รายงานว่า ส่วนใหญ่ผู้ประท้วงแค่ผลักและดัน ด้านเบน เบิร์กแควม ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ออนไลน์ “เรียลอเมริกาวอยซ์” รายงานว่า สิ่งที่เห็นวันนี้ส่วนใหญ่เป็นความงดงาม
สื่อหลายสำนักทั้งเรียลอเมริกาวอยซ์ นิวส์แม็กซ์ และวันอเมริกานิวส์เน็ตเวิร์ก (โอเอเอ็น) ที่ทรัมป์แนะนำให้ดูบ่อยครั้งในระยะหลัง อ้างโดยไม่มีหลักฐานว่าผู้ชุมนุมถูกกลุ่มซ้ายจัดเข้าแทรกซึม
น.ส. จีนา ลูดอน ผู้สื่อข่าวเรียลอเมริกาวอยซ์กล่าวว่า ผู้ก่อจลาจลที่เธอเจอบริเวณทางเดินรัฐสภาน่าจะเป็นพวกแอนติฟาแฝงตัวเข้ามา
แอนติฟา เป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวซ้ายจัดส่วนใหญ่รวมตัวกันแบบไม่มีโครงสร้าง มักถูกทรัมป์และผู้สนับสนุนกล่าวหาอยู่เสมอว่าก่อเหตุรุนแรง
นายทักเกอร์ คาร์ลสัน ผู้ประกาศฟอกซ์นิวส์กล่าวว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะผู้มีอำนาจตัดสินใจปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงจนถึงจุดที่ทนไม่ได้ต้องระเบิดออกมา