'ประถม-มัธยม-อาชีวะ' รับเพิ่มเงินอุดหนุนยากจนพิเศษสูงสุด 9,100 บาทต่อปี
ครม.เคาะ เพิ่มเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ 'ประถม-มัธยม-อาชีวะ' ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
12 ม.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2565 รวมวงเงินทั้งสิ้น 7,635.67 ล้านบาทประกอบด้วย 9 แผนงาน ได้แก่
นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาวงเงิน 364 ล้านบาท , ส่งเสริมโอกาสและพัฒนาคุณภาพนักเรียนวงเงิน 4,847.52 ล้านบาท, สร้างนวัตกรรมการพัฒนาครูและสถานศึกษาวงเงิน 459.15 ล้านบาท , พัฒนากลไกจังหวัดและระบบช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่ยากจนและเด็กนอกระบบการศึกษาวงเงิน 386 ล้านบาท
สร้างต้นแบบระบบการผลิตและพัฒนาครูวงเงิน 298.73 ล้านบาท, สร้างนวัตกรรมสายอาชีพสร้างโอกาสนักเรียนอัจฉริยะที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาสได้เรียนต่อระดับสูงและพัฒนาประชากรวัยแรงงานด้อยโอกาสวงเงิน 856.44 ล้านบาท , สร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ
และวิเทศสัมพันธ์วงเงิน 39.20 ล้านบาท, งานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและระดมความร่วมมือทางสังคมวงเงิน 68.50 ล้านบาท และงานด้านการบริหารและพัฒนาระบบงานวงเงิน 316.13 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ได้เห็นชอบให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข(ทุนเสมอภาค) โดย กสศ.ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลให้ครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้ลดลงและเกิดการว่างงาน ประกอบกับผลวิเคราะห์จากโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ มีข้อเสนอว่า อัตราเงินทุนเสมอภาคในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษ
ดังนั้นจึงเห็นควรให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้แตกต่างกัน และป้องกันความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ในระยะยาว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า อัตราเงินอุดหนุนใหม่ คือ ในระดับอนุบาล อัตราเดิม 4,000 บาทต่อปียังคงจ่ายเท่าเดิม ระดับประถมศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 5,100 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 2,100 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 4,500บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 1,500 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 9,100 บาท เพิ่มขึ้น 6,100 บาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ซึ่งตามนิยามของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ จะหมายถึง นักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อมแบบ PMT หรือ Proxy Means Test จากระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอยู่ในกลุ่มค่าคะแนนความยากจนอยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษ หรือ ครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน