"นวัตกรรมทางการแพทย์" ช่วยผู้ป่วยโควิด-19
การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ล่าสุด(ข้อมูลวันที่ 13 ม.ค.2564) มียอดผู้ป่วยสะสม 10,991 ราย ส่งผลให้ภาครัฐ เอกชน ต่างระดมความช่วยเหลือลงสู่ทุกพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุม และ 5 พื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ตลอดระยะเวลาเกิดการแพร่ระบาดของโรค “โรงเรียนแพทย์ และมหาวิทยาลัยไทย” ได้มีการจัดส่งอุปกรณ์ หุ่นยนต์เครื่องมือทางการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ลงในพื้นที่ต่างๆด้วยเช่นกัน
มธ.เปิดรพ.สนามรับผู้ป่วย8จังหวัด
เริ่มด้วยโรงเรียนแพทย์ อย่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ดูแลโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งนอกจากเปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ 308 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากโรงพยาบาลในจ.ปทุมธานี และเขตสุขภาพที่ 4 ครอบคลุม 8 จังหวัด ประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยาอ่างทอง สิงห์บุรี นครนายก ลพบุรี และสระบุรี
พร้อมกันนี้ยังทําหน้าที่รับส่งต่อผู้ป่วยจาก โรงพยาบาลในเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ( UHOSNET) ซึ่งในพื้นที่ กทม. ประกอบด้วย โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลวชิรพยาบาลแล้วทางมธ.ยังได้มอบหน้ากากอนามัย N95 จำนวน 22,000 ชิ้น ให้กับทุกโรงพยาบาลใน จ.ปทุมธานี ส่วนในพื้นที่ควบคุมจังหวัดเสี่ยง มธ.พร้อมดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่อมา ด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความพร้อมในทุกด้าน
จุฬาฯส่งหุ่นยนต์ปิ่นโตรพ.พื้นที่เสี่ยง
ขณะที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ จัดส่งหุ่นยนต์ “ปิ่นโต” จำนวน200 ตัว และระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” กว่า 1,000 ตัวลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ให้พร้อมรับกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่ง ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าการจัดส่งหุ่นยนต์ “ปิ่นโต” และระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” ในครั้งนี้ ถูกส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลที่ติดต่อมาในโครงการr CURoboCovid จนครบทั่วประเทศ
นอกจากนี้ คณะฯได้จัดส่งหุ่นยนต์ปิ่นโตและระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” พร้อมรับกับการระบาดโควิด-19 ส่งมอบเพิ่มเติมให้ โรงพยาบาลสนาม จ.สมุทรสาคร โรงพยาบาลราชบุรี และโรงพยาบาลนครปฐม เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษาพยาบาลให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย COVID-19 ปัจจุบันเราได้ส่งมอบหุ่นยนต์ “ปิ่นโต”ร่วม 200 ตัวและระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” กว่า 1,000 ตัว ไป 140 กว่าโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย
นอกจากนั้น จุฬาฯได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการจัดทำนวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อจะพ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่มีศักยภาพในการกำจัดไวรัส แบคทีเรีย เชื้อราและสปอร์ของเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตราย สามารถกำจัดได้ทั้งเชื้อในอากาศและเชื้อที่อยู่บนพื้นผิววัสดุ และนักวิจัยได้พัฒนานวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อ 2 รุ่น คือเครื่อง VQ20 ที่พ่นละอองไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 3-7% เพื่อฆ่าเชื้อ และเครื่อง VQ20+HP35 ที่พ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ขนาดเล็กกว่า 5 ไมโครเมตร และล่องลอยในอากาศได้นาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์พื้นที่โควิด-19
จุดตรวจโควิดตู้โทรศัพท์สาธารณะ
ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ได้เปิดต้นแบบ “จุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ” สู้โควิด-19 รอบใหม่ ส่งมอบ TOT ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารและผลิตเพิ่ม เผยยึดข้อมูลจาก WHO เป็นแนวทางการออกแบบ พร้อมวางแผนส่งต่อให้กับโรงพยาบาลปทุมธานีใช้งานจริง และเตรียมผลิตเพิ่มเพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ หวังลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อให้กับแพทย์และผู้รับบริการ แนะติดตั้งบริเวณทางเข้า-ออกตามแนวชายแดน เพื่อคัดกรองตั้งแต่ต้นทางและช่วยลดภาระการติดตาม เชื่อโครงการนี้จะให้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อสังคมไทย
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มอบทุน สนับสนุนให้สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ.จัดสร้าง ชุดหุ่นยนต์มดบริรักษ์ ประกอบด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่ หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์(SOFA) สามารถควบคุมทางไกลจากห้องส่วนกลาง แสดงการรักษาที่เชื่อมโยงข้อมูลระบบของโรงพยาบาล และวีดิโอคอล สนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ หุ่นยนต์ทำหน้าที่ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ (MuM III) และหุ่นยนต์บริการเฉพาะจุด (Service Robot) สามารถเคลื่อนที่อัตโนมัติจากการควบคุมทางไกลจากห้องส่วนกลาง ให้แก่โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพุทธโสธร โรงพยาบาลระยอง และโรงพยาบาลบางละมุง
สจล.ส่งต่อนวัตกรรมการแพทย์
ศูนย์รวมนวัตกรรมสู้โควิด-19 (KMITL GO FIGHT COVID-19)’ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)ให้การสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสมุทรสาคร ส่งมอบ “นวัตกรรมทางการแพทย์” ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ร่วมสมทบทุนในการผลิตอุปกรณ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 แบบเร่งด่วน
อาทิ ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันบวก (Positive Pressure) สำหรับการตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงแบบเชิงรุก จำนวน 3 ตู้ เพื่อสนับสนุนการคัดแยกผู้ที่ติดเชื้อโดยเร็ว และชุดอุปกรณ์พัดลมกรองอากาศ PAPRs พร้อมฮู้ดสำหรับป้องกันเชื้อโรค จำนวน 10 ชุด และในวันที่14ม.ค.2564 สจล.จะจัดส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือของกลุ่มโรงเรียนแพทย์ และมหาวิทยาลัยยังคงทยอยไปสู่โรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปลอยภัย ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ให้หาย