‘ดาวเทียมและอวกาศ’ เทคโนโลยีที่กำลังจะมาใน ปี 2021 I Digital of Things
‘เทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ’ ที่คุ้นหูกันมานาน ถูกพัฒนามาในรูปแบบใหม่ ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปี 2021 นี้
มาถึงตอนนี้ทุกท่านก็คงเสร็จสิ้นบรรยากาศการเฉลิมฉลองและเดินหน้าเข้าสู่ชีวิตใน ปี ค.ศ. 2021 หรือ พ.ศ. 2564 อย่างสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าพวกเราจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ในสภาวะที่ต้องต่อสู้กับปัญหาต่างๆ มากมาย แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไปและ ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ ท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
ปี 2021 ‘เทคโนโลยี’ ยังคงเดินหน้าพุ่งแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการพัฒนายกระดับของตัวเทคโนโลยีเอง และการนำเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ในปีนี้อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับพวกเราอย่างแน่นอนก็คือ เทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีอวกาศเริ่มกลับมาอยู่ในพื้นที่ข่าวและวงการเทคโนโลยีอีกครั้งหนึ่ง นำโดย อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้บริหารและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท SpaceX ที่ประสบความสำเร็จในการส่งจรวดออกไปนอกชั้นบรรยากาศ เข้าสู่วงโคจร แล้วควบคุมให้จรวดลูกนั้นเดินทางกลับมาจอดลงพื้นโลกได้อย่างปลอดภัย ภาพดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในสื่อสารมวลชนทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งมีคลิปที่แพร่หลายในโลกโซเชียล ตบท้ายด้วยการประกาศให้ อีลอน มัสก์ เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในปีที่ผ่านมา
- เทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ
‘เทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ’ เป็นเทคโนโลยีที่คุ้นหู โดยเฉพาะคำว่า ‘นักบินอวกาศ’ หรือ ‘การถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม’ ที่มีมาเป็นเวลานาน แต่ ‘เทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ’ ในรูปแบบใหม่ที่ผมกำลังจะเล่าสู่กันฟังคือ ดาวเทียมทีมีวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) ที่จะโคจรอยู่ห่างพื้นโลกไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร ซึ่งทางเทคนิคจะต้องเป็นดาวเทียมขนาดเล็กที่มีการเคลื่อนที่เร็วเพื่อต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกตามธรรมชาติ เมื่อวงโคจรอยู่ไม่ห่างจากพื้นโลก จึงใช้ระยะเวลาสั้นมากในการโคจรรอบโลก ยิ่งเมื่อเทคโนโลยี Digital พัฒนาขึ้นในทุกๆ อุปกรณ์ทุกอย่างมีขนาดเล็กลง มีความจุที่มากขึ้น ประกอบกับระบบโทรคมนาคมแบบ Digital ที่มีความเร็วสูง มีความหน่วงของสัญญาณที่ต่ำมาก ‘ดาวเทียมวงโคจรต่ำ’ จึงตอบโจทย์การพัฒนาด้านสื่อสารโทรคมนาคมและการใช้งานอื่นๆ เช่นภาพถ่าย หรือ การติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
- อดีตและอนาคตของดาวเทียม
ประเทศไทยมีดาวเทียมสื่อสารของตนเองมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยมีหน้าที่หลักๆ ในการปล่อยสัญญาณถ่ายทอดสด อินเทอร์เน็ต หรือการติดตามยานพาหนะต่างๆ ปัจจุบันดาวเทียมสื่อสารของไทยยังมีเหลือใช้งานอยู่ถึง 4 ดวง ซึ่งนอกจากการให้บริการในประเทศแล้ว ดาวเทียมทั้ง 4 ดวงยังมีพื้นที่ให้บริการกับลูกค้าจากประเทศต่างๆ อีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม ดาวเทียมสื่อสารทั้งหมดของไทยเป็นดาวเทียมวงโคจรสูง ห่างจากโลกประมาณ 30,000 กิโลเมตร ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนในการสร้าง ต้นทุนในการผลิตและในการปล่อยจรวดย่อมมีราคาสูง โดยปกติการสร้างดาวเทียมขนาดนี้จะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ ในการส่งดาวเทียมต้องมีการประสานงานกับประเทศต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้ให้บริการปล่อยจรวดเพื่อนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรซึ่งกินเวลาอีกเป็นปี สรุปรวมเวลาในการออกแบบ สร้างและนำดาวเทียมขึ้นประจำวงโคจรก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี พร้อมทั้งจะต้องมีทีมการตลาดที่แข็งแรงการหาลูกค้าที่จะมาใช้งานดาวเทียมจะต้องทำควบคู่กับการออกแบบดาวเทียม เพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและติดตั้งอุปกรณ์เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้ประหยัดที่สุด
ในอดีตโอกาสที่จะหาลูกค้าหลังจากที่ดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเมื่ออยู่ในวงโคจรที่อยู่ห่างจากพื้นโลกระดับหลายหมื่นกิโลเมตร การเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนอะไรไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ ดังนั้น ธุรกิจดาวเทียมสื่อสารวงโคจรสูงจึงมีผู้เล่นอยู่ไม่มากนักในอดีต
แต่ปัจจุบันการเข้ามาของเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำเป็นแนวทางที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายของธุรกิจดาวเทียมไปได้อย่างมหาศาล จากระยะ 30,000 กิโลเมตร ลงมาเหลือเพียง 1,000 กิโลเมตร บวกกับการใช้จรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกแบบ SpaceX ทำให้หลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาให้ความสนใจกับดาวเทียมเป็นอย่างมาก มีการประมาณกันว่าด้วยเงินลงทุนราว 1,000 ล้านบาทก็สามารถครอบครองดาวเทียมวงโคจรต่ำราว 10 – 15 ดวง ซี่งเพียงพอที่จะสร้างเครือข่ายการให้บริการในประเทศทั้งหมดและนอกประเทศในส่วนที่ดาวเทียมเหล่านี้โคจรผ่าน โดยดาวเทียมมีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 15 ปี
- ดาวเทียมวงโคจรต่ำทำอะไรได้บ้าง
คำตอบง่ายๆ คือ ดาวเทียมวงโคจรต่ำทำได้ทุกอย่างและที่สำคัญคือประหยัดในทุกๆ เรื่อง ทั้งในส่วนของตัวดาวเทียมเองที่มีขนาดเล็กเพราะไม่ต้องบึกบึน ทนร้อน ทนหนาว ทนแรงสั่นสะเทือน แรงกระแทกระหว่างการเดินทางกว่า 30,000 กิโลเมตร วงโคจรที่อยู่ไม่ไกลจากโลก ทำให้อุปกรณ์ที่ติดตั้งไปไม่แพงเหมือนอุปกรณ์ในดาวเทียมที่อยู่สูงกว่า ค่าใช้จ่ายในการส่งดาวเทียมไปยังเป้าหมายก็ประหยัดไปหลายเท่าตัว เมื่อดาวเทียมอยู่ในวงโคจรแล้วสามารถทำตัวเป็นแม่ข่ายกระจายสัญญาณต่างๆ ได้ทันที ทั้งโทรคมนาคมแบบเคลื่อนที่และแบบพื้นฐาน ติดตั้งระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว วัดค่าต่างๆ ตามที่ต้องการ ติดตั้งกล้องถ่ายภาพ หรือกล้องวงจรปิด ทั้งแบบกลางวันกลางคืน ระบบตรวจจับความร้อน
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นเมื่อผนวกเข้ากับเทคโนโลยี Digital ที่มีความเร็วสูง ความจุมาก การใช้ดาวเทียมวงโคจรต่ำจึงเหมือนการมีเสาสัญญาณ Digital อยู่บนท้องฟ้าการรับส่งสัญญาณจากพื้นโลกโดยใช้ดาวเทียมเป็นตัวรับ-ส่ง ทำให้อุปสรรคในการตั้งเสาสื่อสารในพื้นที่ห่างไกลหมดไป และเมื่อห่างจากพื้นโลกไม่ถึง 1,000 กิโลเมตร คุณภาพของเครื่องรับ-ส่ง หรือเลนส์ที่ใช้ในการบันทึกภาพก็จะไม่ต้องอลังการเหมือนอดีตแถมการส่งสัญญาณผ่านท้องฟ้าหรืออวกาศก็จะปราศจากการรบกวนจากสิ่งใดๆ อย่างสิ้นเชิง
ด้วยทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมาแล้ว ทุกท่านคงเห็นภาพนะครับว่าทำไม ดาวเทียมและอวกาศจึงเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาในปี 2021 และจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกนาน